นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)แถลงภาวะเศรษฐกิจเดือน ต.ค.54 รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมครั้งใหญ่และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีต่อภาคการผลิตและการส่งออก โดยภาคอุตสาหกรรมหดตัวลงทุกหมวด สอดคล้องกับการผลิตที่ลดลงไป โดยหากปรับฤดูกาลแล้วอัตราการใช้กำลังการผลิตจะลดลงเหลือเพียง 45% จาเดือน ก.ย.ที่มีการผลิตเต็มกำลัง
ขณะที่การส่งออกหดตัวลงตามไปด้วย แต่มูลค่ายังใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนในระดับ 1.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนด้านปริมาณการส่งออกก็ลดลงถึง 3.7% โดยสินค้าที่ส่งออกลดลงมาก ได้แก่ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ลดลง 27.6% ฮาร์ดดิสด์ไดร์ฟ(HDD)ลดลง 14.5%
ด้านการท่องเที่ยวชะลอลงจากที่เคยขยายตัว 23.5% เหลือเพียง 7.5% โดยจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงเนื่องจากหลายประเทศออกคำเตือนห้ามประชาชนเดินทางเข้ามายังประเทศไทย เพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์อุทกภัย ทำให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศในเดือน ต.ค.ลดลงจากเดือน ก.ย.54 ประมาณ 13% สวนทางอัตราเข้าพักที่สูงถึง 58.5% เนื่องจากคนไทยอพยพหนีน้ำท่วมไปพักในโรงแรมกันมาก
ส่วนการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเหลือ 2.2% หากเทียบกับเดือน ก.ย.54 จะลดลง 3.7% เนื่องจากการจำหน่ายรถยนต์ลดลงในช่วงน้ำท่วม การใช้น้ำมันชะลอตัวลง
สำหรับการลงทุนขยายตัวอัตราชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยลดลงเหลือ 6.3% เห็นได้จากการชะลอการสั่งซื้อวัสดุและอุปกรณ์ แม้ว่ามูลค่าการนำเข้ายังสูงถึง 1.6 หมื่นล้านเหรียญ หรือขยายตัว 20.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ก็เป็นการนำเข้าทองคำสูงถึง 2 พันล้านเหรียญ ดังนั้น หากหักออกมูลค่าการนำเข้าจะเหลือเติบโตแค่ 8.7%
นายไพบูลย์ กล่าวว่า การที่ดุลชำระเงินในเดือนต.ค.ติดลบ เนื่องมาจากการไหลออกของเงินทุนไปยังต่างประเทศราว 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ สาเหตุสำคัญคือธนาคารพาณิชย์ปรับลดฐานะเงินตราต่างประเทศลงด้วยการคืนหนี้ต่างประเทศ หรือเอาเงินไปฝากต่างประเทศ เพราะการส่งออกและนำเข้าชะลอตัวลง ทำให้มีการซื้อขายเงินตราต่างประเทศลดลง ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์จึงไม่จำเป็นต้องสำรองเงินไว้มาก