กสิกรฯ คาดเงินเฟ้อเริ่มผ่อนคลายต้นปี 55 แต่ทั้งปียังสูงในกรอบ 3.5-4.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 1, 2011 15:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2555 จะยังคงทรงตัวสูงในระดับใกล้เคียงกับปี 2554 ที่ระดับประมาณ 3.9% (กรอบคาดการณ์ 3.5-4.5%) ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2555 อาจจะยังขยับขึ้นต่อเนื่องไปที่ 3.0% (กรอบคาดการณ์ 2.6-3.6%) จากตัวเลขคาดการณ์ที่ 2.4% ในปี 2554

ทั้งนี้ แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทย น่าจะเข้าสู่ช่วงผ่อนคลายลงชั่วคราวในช่วงไตรมาสที่ 1/2555 หลังจากที่ปรับตัวอยู่ในระดับสูงกว่า 4.0% อย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 เนื่องจากผลกระทบน้ำท่วมต่อทิศทางราคาสินค้าผู้บริโภคบางรายการ เช่น สินค้าในหมวดอาหารสด และค่าที่อยู่อาศัย น่าจะทยอยลดลงตามสถานการณ์น้ำท่วมที่คลี่คลายลง

ในขณะที่ ผลของการตรึงค่าเอฟที ความเป็นไปได้ที่การปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และการเลื่อนช่วงการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานแบบก้าวกระโดดออกไปเป็นเดือนเมษายน 2555 (เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมีเวลาปรับตัว) ก็น่าจะช่วยบรรเทาแรงกดดันเงินเฟ้อในช่วงไตรมาสแรกของปีลงด้วยอีกทางหนึ่ง

อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้ออาจถูกผลักดันขึ้นเมื่อเทียบเดือนต่อเดือนอย่างมีนัยสำคัญอีกครั้งในช่วงไตรมาสที่ 2/2555 เมื่อการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานแบบก้าวกระโดดเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน 2555

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ว่าทิศทางเงินเฟ้อในภาพรวมอาจถูกปกคลุมไปด้วยภาพใหญ่จากสัญญาณความไม่แน่นอน ชะลอตัวและ/หรือถดถอย ของเศรษฐกิจโลก ที่น่าจะมีผลฉุดรั้งการขยับขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลกไว้บ้างบางส่วน (คาดว่าราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบในปี 2555 อาจอยู่ในกรอบประมาณ 95-110 ดอลลาร์/บาร์เรล) แต่ทิศทางราคาพลังงานในประเทศของไทยอาจมีช่วงเวลาที่ไม่ปรับตัวลงสอดคล้องกันในทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่มาตรการพลังงานตามที่รัฐบาลประกาศไว้สิ้นสุดลง

อนึ่ง ตามกำหนดการเดิมการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2554 ขณะที่การกลับมาเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ และดีเซล การเริ่มทยอยขยับขึ้นราคาก๊าซ LPG/NGV ในภาคขนส่ง ตลอดจนการยกเลิกบริการรถเมล์-รถไฟฟรี จะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2555

นอกจากนี้ ทิศทางเงินเฟ้อของไทยปี 2555 ยังมีแรงหนุนสำคัญจากปัจจัยอื่นๆ ในระหว่างปีเพิ่มเติมอีก อาทิ การปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานในอัตราก้าวกระโดดประมาณ 35.7-39.5% ในวันที่ 1 เมษายน 2555 ซึ่งย่อมจะมีผลต่อเนื่องต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ และกระบวนการส่งผ่านมายังราคาสินค้าผู้บริโภคในช่วงเวลาหลังจากนั้น ตลอดจนโครงการรับจำนำข้าวที่แม้จะเริ่มดำเนินการแล้วในปี 2554 แต่ก็จะยังคงมีผลต่อการผลักดันราคาสินค้าในกลุ่มอาหารต่อเนื่องในปี 2555 ขณะที่มาตรการสนับสนุนรายได้และกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐบาล ก็อาจส่งผลหนุนเงินเฟ้อตามแรงผลักทางด้านอุปสงค์อีกทางหนึ่งด้วยเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ