นางนวลอนงค์ วงษ์จันทร์ หัวหน้ากองประชาสัมพันธ์ ศูนย์ประชาสัมพันธ์และบริการท่องเที่ยว การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า วันนี้ พล.ต.ต.ชัจจ์ กุลดิลก รมช.คมนาคม พร้อมด้วยคณะร่วมเดินทางโดยขบวนรถพิเศษตรวจราชการ การก่อสร้างทางคู่ในเส้นทางรถไฟสายชายฝั่งทะเลตะวันออกช่วงฉะเชิงเทรา-ศรีราชา-แหลมฉบัง พร้อมสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ในเส้นทางสายตะวันออก(สายพัทยา)
การดำเนินโครงการก่อสร้างทางคู่ตอนฉะเชิงเทรา -ศรีราชา- แหลมฉบัง ระยะทาง 78 กิโลเมตร และได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2547 ให้ดำเนินโครงการดังกล่าวได้ ต่อมาได้รับอนุมัติให้ปรับปรุงวงเงินลงทุนโครงการเป็นวงเงิน 5,850 ล้านบาท เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2550 และได้รับการบรรจุไว้ในแผนแม่บทการพัฒนาระบบโลจีสติกส์ของประเทศไทย พ.ศ.2550 — 2554 โดยมีขอบเขตลักษณะโครงการจากฉะเชิงเทราไปศรีราชาและสุดปลายทางที่สถานีแหลมฉบัง ผ่านสถานีรถไฟฉะเชิงเทรา ดอนสีนนท์ พานทอง ชลบุรี บางพระ ศรีราชา และแหลมฉบัง ในพื้นที่จังหวัดชายทะเลภาคตะวันออก รวม 2 จังหวัดคือ ฉะเชิงเทรา และ ชลบุรี
สำหรับขอบเขตงานในการก่อสร้างนั้น ได้ก่อสร้างทางรถไฟใหม่เพิ่มอีก 1 ทาง คู่ขนานไปกับทางรถไฟปัจจุบันจากสถานีชุมทางฉะเชิงเทรา (กม.60+993) ไปตามเส้นทางรถไฟสายชายฝั่งทะเลตะวันออกสู่สถานีศรีราชา (กม.130+605) และสิ้นสุดปลายทางที่สถานีแหลมฉบัง (กม.140+420) โดยมีการก่อสร้างแผ่นพื้น คสล.วางบนเสาเข็มเพื่อรองรับคันทางดินถมในช่วงที่เป็นดินเหนียวอ่อน (soft clay) จากฉะเชิงเทรา ถึงสถานีพานทอง ประมาณ 33 กิโลเมตร,
ดำเนินการรื้อย้ายระบบอาณัติสัญญาณของทางรถไฟเดิมและติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณบังคับสัมพันธ์ด้วยคอมพิวเตอร์ (Computer Based Interlocking :CBI) ทดแทนจำนวน 7 สถานี,ติดตั้งอุปกรณ์ระบบส่งข้อมูล ความเร็วสูง (SDH) เพื่อเชื่อมต่อระบบโทรคมนาคม,ปรับปรุงเครื่องกั้นถนนเสมอระดับ จำนวน 59 แห่ง พร้อมระบบควบคุม,
ติดตั้งอุปกรณ์รับ-ส่งสัญญาณ CBI เพื่อเชื่อมต่อกับระบบควบคุมการเดินรถจากศูนย์กลาง (CTC) ให้สามารถควบคุมสั่งการและแสดงผลสถานีให้พื้นที่โครงการ,ก่อสร้างสะพานรถไฟ ประกอบด้วย สะพานคอนกรีตช่วงยาว 3 แห่ง สะพานเหล็กช่วงยาว 1 แห่ง และสะพานช่วงสั้น 20 แห่ง, ปรับปรุงโครงสร้างสะพานรถไฟเดิมเพื่อรองรับการขยายถนนของหน่วยงานท้องถิ่น, ก่อสร้างอาคารบ้านพัก พร้อมที่ทำการบริเวณสถานี, สร้างรั้วตลอดแนวสองฝั่งของทางคู่เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการขนส่งและโดยสาร, รื้อย้ายบ้านเรือนที่รุกล้ำที่ดินของการรถไฟฯ จำนวน 35 หลังไปอยู่ในบริเวณที่จัดเตรียมไว้ให้
การเดินรถระหว่างสถานีไอซีดีลาดกระบัง-ท่าเรือแหลมฉบังจะสามารถเพิ่มการเดินขบวนรถจากเดิม 24 ขบวนต่อวันในปัจจุบัน เป็น 48 ขบวนต่อวัน หรือปริมาณการขนส่งเพิ่ม 400,000 TEU เป็น 800,000 TEU ในอนาคตได้ และหากได้รับงบประมาณจัดซื้อรถจักร-รถพ่วงใหม่ก็จะสามารถเพิ่มศักยภาพในการพ่วงตู้รถสินค้าจากเดิม 30 แคร่เป็น 40 แคร่ต่อขบวน ในอนาคตจะสามารถรองสินค้าประเภทอื่นได้เพิ่มมากขึ้น อาทิ น้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์จากน้ำมัน สินค้าผ่านแดนจากเขตอุตสาหกรรมมาบตาพุด แร่ ทองแดง โปรตัสเสียม และการบรรทุกถ่านหินนำจากประเทศเพื่อนบ้านในอนาคต รวมถึงสามารถการพัฒนาเส้นทางรถไฟเพื่อการท่องเที่ยว