ก.แรงงานจัดงานคืนสู่การผลิตภาคอุตฯ คาดรง.กว่า 90แห่งในนิคมไฮเทคเปิดธ.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 1, 2011 16:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงานฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ทุกภาคส่วนรวมพลังจัดงาน“คืนสู่การผลิตภาคอุตสาหกรรม : RESTART TO OPERATION" เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554 ขึ้น ณ นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า(ไฮเทค) อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการและนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ หลังจากนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งได้รับผลกระทบจากเหตอุทกภัย

ในโอกาสดังกล่าวจะได้พบปะกับผู้ประกอบการ 2 แห่ง คือ บริษัทแคนนอน และบมจ. อาปิโก ไฮเทค (AH) เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนข้อมูลอันจะนำมาซึ่งการป้องกันและแก้ไขปัญหาร่วมกัน คาดว่าเดือนธันวาคม 2554 จะมีสถานประกอบการเปิดทำการได้ไม่น้อยกว่า 90 โรง

ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) เป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งที่ 3 ที่ประสบความเสียหายอย่างรุนแรงจากอุทกภัย มีสถานประกอบการอยู่ 143 แห่ง ลูกจ้าง 60,000 คน ส่วนใหญ่เป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์, คอมพิวเตอร์ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ อาทิ แคนนอน ไฮเทค ผลิตพรินเตอร์ อิงค์เจ็ตที่ใหญ่ที่สุดในโลก, ฮานา เซมิคอนดัคเตอร์ ผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ และโฮยา เลนส์ ผลิตเลนส์สำหรับ ทั้งกล้องถ่ายภาพและแว่นตา สำหรับการจัดกิจกรรมครั้งนี้ เป็นส่วนที่จะสนับสนุนให้นิคมมีความพร้อมที่จะดำเนินกิจการไว้โดยเร็ว อันจะส่งผลดีต่อการจ้างงานและระบบเศรษฐกิจ

กระทรวงแรงงานมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูให้นายจ้าง ลูกจ้างที่ประสบอุทกภัย อาทิ โครงการป้องกันและบรรเทาการเลิกจ้าง โดยนายจ้างต้องทำข้อตกลงกับกระทรวงแรงงานว่าจะต้องไม่เลิกจ้างและต้องจ่ายค่าจ้างไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างเดิม โดยจะสมทบเงินช่วยนายจ้างให้ลูกจ้างรายละ 2,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน

โครงการประกันสังคมเคียงข้างผู้ประกันตนที่ประสบอุทกภัย โดยให้สถานประกอบการกู้เงินรายละไม่เกิน 1 ล้านบาท เพื่อนำไปฟื้นฟูกิจการ อัตราดอกเบี้ย 3% คงที่ 3 ปี ผู้ประกันตนหรือลูกจ้างให้กู้เพื่อซ่อมแซมบ้านรายละไม่เกิน 50,000 บาท ดอกเบี้ย 2.5% คงที่ 2 ปี, โครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน เน้นที่สถานประกอบการขนาด SMEs เพื่อนำไปฟื้นฟูกิจการและเพิ่มศักยภาพการผลิต โดยปล่อยกู้ผ่านธนาคารในวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท

และโครงการยกระดับฝีมือลูกจ้างที่ประสบอุทกภัยกลับสู่สถานประกอบการ เพื่อยกระดับฝีมือลูกจ้างภาคอุตสาหกรรมและบริการในพื้นที่ประสบภัย โครงการเพื่อนช่วยเพื่อน โดยให้สถานประกอบการที่ใกล้เคียงกันหาตำแหน่งงานรองรับลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบเข้าทำงานเป็นการชั่วคราว ล่าสุดมีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการแล้ว 592 แห่ง ใน 46 จังหวัด มีตำแหน่งงานรองรับกว่า 7 หมื่นอัตรา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ