ปธ.ECB เตือนศก.ยูโรโซนเผชิญความเสี่ยงสูงขึ้น-ชี้การซื้อพันธบัตรเป็นแค่มาตรการชั่วคราว

ข่าวต่างประเทศ Thursday December 1, 2011 20:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมาริโอ ดรากิ ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) กล่าวต่อรัฐสภายุโรปในวันนี้ว่า ความเสี่ยงต่างๆที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจยูโรโซนได้เพิ่มสูงขึ้น พร้อมกับเผยว่า อีซีบีจะดำเนินมาตรการชั่วคราวอย่างจำกัด ซึ่งรวมถึงการซื้อพันธบัตรรัฐบาลก็ตาม

นายดรากิยังได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกยูโรโซน 17 ประเทศมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้นเหมือนเมื่อครั้งเริ่มก่อตั้งธนาคารกลางยุโรป และยังได้กล่าวย้ำอีกครั้งถึงบทบาทหน้าที่หลักของธนาคารกลางในการควบคุมเงินเฟ้อ

ประธานอีซีบีคนใหม่กล่าวว่า การนำกฎเกณฑ์ทางการคลังพื้นฐานของภูมิภาคมาประมวลใหม่นั้น เป็นกุญแจสำคัญในการฟื้นความเชื่อมั่น

"ผมเชื่อว่า สิ่งที่สหภาพเศรษฐกิจและการเงินของเราจำเป็นต้องมีก็คือ ข้อตกลงความร่วมมือด้านการคลังฉบับใหม่ ซึ่งเป็นการนำกฎเกณฑ์ทางการคลังพื้นฐานที่มีอยู่มารวมเข้ากับข้อกำหนดทางการคลังต่างๆที่รัฐบาลของประเทศในยูโรโซนได้เห็นชอบร่วมกัน" ดรากิกล่าว พร้อมกับเสริมว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการนำสิ่งที่ยูโรโซนเสนอมาปรับให้เข้ากับสหภาพเศรษฐกิจและการเงิน

เขากล่าวว่า ข้อตกลงความร่วมมือด้านการคลังฉบับใหม่มีความจำเป็น เพราะจะกำหนดให้รัฐบาลต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตหนี้ซ้ำอีก

ขณะเดียวกัน นายดรากิกล่าวว่า มาตรการซื้อพันธบัตรของธนาคารกลางยุโรปไม่ได้มีเป้าที่จะผลิตเงินใหม่ หรือ ให้เงินอุดหนุนรัฐบาล พร้อมระบุว่ามาตรการแทรกแซงที่อีซีบีนำมาใช้ อย่างเช่นการซื้อพันธบัตร จะเป็นการดำเนินการในกรอบที่จำกัดเท่านั้น

นายดรากิกล่าวด้วยว่า อีซีบีตระหนักว่า ภาคธนาคารยังคงประสบกับความยากลำบากต่างๆนานา โดยเฉพาะในการเพิ่มทุน อย่างไรก็ตาม อีซีบีได้ปล่อยเงินกู้ให้ธนาคารพาณิชย์มากตามที่ขอแล้ว เพื่อกระตุ้นการหมุนเวียนของสินเชื่อสู่ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ

"ที่ผ่านมา อีซีบีได้อัดฉีดสภาพคล่องจำนวนมหาศาลแล้ว และตอนนี้ เราเห็นว่า สภาพคล่องนี้กำลังถูกดูดซับออกผ่านธุรกรรมการรับฝากเงินของอีซีบี ซึ่งหมายความว่า ประเด็นไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่ามีสภาพคล่องมากเท่าไร แต่ข้อเท็จจริงคือสภาพคล่องนี้ไม่ได้มีการหมุนเวียนจริง" นายดรากิกล่าส "สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับอีซีบีก็คือการกระตุ้นให้สินเชื่อกลับมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอีกครั้ง"

นอกจากนี้ ประธานอีซีบียังได้กล่าวถึงการที่ธนาคารกลางชั้นนำ 6 แห่งของโลกได้ดำเนินมาตรการแทรกแซงร่วมกัน เพื่อทำให้การกู้ยืมในรูปสกุลเงินดอลลาร์มีความคล่องตัวมากขึ้นและมีต้นทุนการกู้ยืมที่ถูกลงว่า เป็นมาตรการชั่วคราวเท่านั้น

เมื่อวานนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ ธนาคารกลางยุโรป ธนาคารกลางอังกฤษ ธนาคารกลางแคนาดา ธนาคารกลางญี่ปุ่น และธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ ประกาศใช้มาตรการบรรเทาภาวะตึงตัวในระบบการเงินที่เป็นผลมาจากวิกฤตการเงินในยุโรป ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยสว็อปสกุลเงินดอลลาร์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ