นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2554 นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) และคณะ เดินทางพบปะหารือกับประธานบริษัทประกันภัยญี่ปุ่น 3 บริษัท ประกอบด้วย บริษัทมิตซุย สุมิโตโม, บริษัท สมโพธิ์ เจแปน และบริษัท โตเกียว มารีน ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรายใหญ่ให้กับโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 7 แห่งที่ประสบปัญหาอุทกภัย มีจำนวนเงินเอาประกันภัยรวมกันมากกว่า 260,000 ล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 60 ของจำนวนเงินเอาประกันภัยทั้งหมดของโรงงานในนิคมฯทั้ง 7 แห่ง
คณะผู้แทนไทยได้ชี้แจงเพื่อสร้างความเชื่อมั่นถึงแนวทางในการป้องกันอุทกภัยในอนาคต ซึ่งจะเป็นการลงทุนครั้งใหญ่เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยการจัดทำแผนแม่บทในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจตามปกติได้โดยเร็วที่สุด รวมถึงการผ่อนคลายกฎระเบียบด้านประกันภัยเพื่อให้กระบวนการการประเมินความเสียหายเป็นไปอย่างรวดเร็ว
การหารือได้รับการตอบสนองอย่างดียิ่งโดยผู้บริหารระดับสูงของบริษัทประกันภัยญี่ปุ่นตระหนักถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาวและได้ยืนยันที่จะดำเนินธุรกิจในประเทศไทยต่อไป รวมถึงยืนยันความพร้อมด้านการเงินเพื่อเพิ่มทุนให้กับบริษัทลูกในประเทศไทยให้เพียงพอสำหรับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนอย่างรวดเร็ว แม้ว่ามูลค่าความเสียหายจะสูงมากก็ตาม
นอกจากนี้ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทประกันภัยญี่ปุ่นมองว่าวิกฤติที่เกิดขึ้นจากอุทกภัยในครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีของธุรกิจประกันภัยในการขยายตัวเพราะผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์จะมีความตระหนักถึงภัยที่เกิดจากน้ำท่วมมากขึ้น
ส่วนประเด็นเรื่องค่าเบี้ยประกันภัยในปีหน้านั้น เมื่อระดับความเสียหายและความเสี่ยงสูงขึ้นแน่นอนว่าเบี้ยประกันภัยจะต้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่จะต้องเพิ่มขึ้นแบบมีเหตุผลไม่ใช่ในลักษณะก้าวกระโดด และผู้บริหารระดับสูงของบริษัทประกันภัยญี่ปุ่นได้ยืนยันที่จะให้การสนับสนุนรัฐบาลในทุกทางเพื่อให้การฟื้นฟูประเทศเป็นไปอย่างรวดเร็วที่สุด