กสิกรฯ คาดราคาข้าวในปท.จากนี้จนถึงH1/55แนวโน้มเพิ่มขึ้นใกล้ราคารับจำนำ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 7, 2011 14:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ในเดือนพฤศจิกายน 2554 ดัชนีราคาข้าวที่เกษตรกรขายได้อยู่ในระดับ 192.39 หรือหดตัวร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม(MoM) แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน(YoY) เนื่องจากข้าวนาปีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทยอยออกสู่ตลาด ซึ่งพื้นที่ปลูกไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม แต่บางพื้นที่มีปัญหาเรื่องโรงสีที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำไม่เพียงพอ ชาวนาบางรายจึงต้องขายข้าวให้โรงสีที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะได้รับราคาต่ำกว่าราคารับจำนำที่รัฐบาลกำหนด

ส่วนดัชนีราคาขายส่งหน้าโรงสี และดัชนีราคาส่งออกยังมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยดัชนีราคาขายส่งหน้าโรงสีในเดือนพฤศจิกายนอยู่ในระดับ 194.82 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า(MoM) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน(YoY) ส่วนดัชนีราคาส่งออกข้าวทุกประเภทของไทยเพิ่มขึ้นไปที่ระดับ 188.92 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 MoM แต่หดตัวร้อยละ 2.2 YoY เนื่องจากบรรดาโรงสีเร่งกว้านซื้อข้าวเก็บเข้าสต็อก โดยแข่งขันกับโรงสีที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว เนื่องจากวงการค้าข้าวประเมินว่าปริมาณผลผลิตข้าวนาปีจะมีแนวโน้มลดลง จากปัญหาอุทกภัย ซึ่งจะส่งผลให้ราคาข้าวในช่วงปลายปีต่อเนื่องถึงไตรมาส 1/55 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ส่วนดัชนีราคาข้าวส่งออกข้าวขาว5% ของไทยในเดือนพฤศจิกายน 2554 ปรับเพิ่มขึ้นเป็น164.80 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2554 เนื่องจากปัญหาน้ำท่วมสร้างความเสียหายให้กับผลผลิตทั้งข้าวนาปรังรอบสองในพื้นที่ภาคกลาง และผลผลิตข้าวนาปีบางส่วนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเด็นที่น่าสนใจคือ ดัชนีราคาส่งออกข้าวขาว5% ของเวียดนามหดตัวร้อยละ 2.4 ไปแตะที่ระดับ 170.42 เนื่องจากน้ำท่วมสร้างความเสียหายให้กับข้าวเวียดนามไม่มากนัก และยังต้องเผชิญการแข่งขันกับอินเดียและปากีสถาน

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 ดัชนีราคาข้าว5%ของไทยหดตัวร้อยละ 0.8 ในขณะที่ดัชนีราคาส่งออกข้าว5%ของเวียดนามเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 16.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แสดงให้เห็นว่าราคาข้าวเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาของปีนี้ และเริ่มขยับเข้ามาใกล้กับราคาส่งออกข้าวของไทยมากขึ้น โดยได้รับอานิสงส์จากการที่ประเทศผู้ซื้อหันไปซื้อข้าวจากเวียดนามที่มีราคาถูกกว่าไทย

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ในเดือนพฤศจิกายน 2554 ราคาส่งออกข้าวของไทยและอินเดียปรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่ผู้ส่งออกข้าวรายอื่นๆราคาข้าวปรับลดลง กล่าวคือราคาข้าวไทยยังปรับเพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ว่าปริมาณข้าวในช่วงปลายปีมีแนวโน้มลดลงจากปัญหาน้ำท่วม ส่วนราคาส่งออกข้าวของอินเดียปรับเพิ่มขึ้นตามการปรับเพิ่มของราคารับซื้อข้าวเปลือกขั้นต่ำจากเกษตรกรที่รัฐบาลกำหนด (ซึ่งทางสมาคมชาวนายังคงเรียกร้องให้ปรับเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากยังประสบปัญหาขาดทุนจากสภาพอากาศแปรปรวน(ทั้งภาวะน้ำท่วมและภัยแล้ง) ราคาปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืชปรับตัวสูงขึ้น) นอกจากนี้ การปรับเพิ่มขึ้นของราคาส่งออกข้าวไทย ในขณะที่ราคาส่งออกข้าวเวียดนามปรับลดลง ส่งผลให้ราคาข้าวเวียดนามต่ำกว่าข้าวไทยประมาณ 90-98 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน จากที่ในช่วงเดือนตุลาคมต่างกันอยู่เพียง 30-35 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตันเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ราคาข้าวในเดือนธันวาคม 2554 จะยังมีแนวโน้มสูงขึ้น ต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2554 จากปัจจัยหนุนสำคัญ คือ การเกิดอุทกภัยครั้งร้ายแรงในไทย แต่ว่าราคาข้าวส่งออกของไทยไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากนัก เนื่องจากการที่อินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาวและข้าวนึ่ง โดยเริ่มส่งออกตั้งแต่ไตรมาส 4/54 รวมทั้งปากีสถานก็เพิ่มการส่งออกข้าวด้วยเช่นกัน ทำให้ประเทศผู้ซื้อข้าวหันไปซื้อข้าวจากอินเดียและปากีสถานที่ราคาถูกกว่า ในขณะที่ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าราคารับจำนำ เนื่องจากปัญหาเรื่องจำนวนโรงสีที่เข้าร่วมมาตรการรับจำนำในบางพื้นที่ไม่เพียงพอ ซึ่งยังต้องติดตามการแก้ไขปัญหาในการอนุมัติให้มีการรับจำนำข้ามเขตเพิ่มเติม รวมทั้งการอนุมัติให้มีการรับจำนำปลายข้าว ซึ่งจะช่วยเพิ่มแรงจูงใจโรงสีให้เข้าร่วมโครงการมากขึ้น และส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกปรับตัวเพิ่มขึ้น

ส่วนราคาส่งออกข้าวของเวียดนามคาดว่ามีแนวโน้มปรับลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมไม่มากนัก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ปริมาณการผลิตข้าวนาปรังปี 2555 อาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 11-12 ล้านตันข้าวเปลือกจากเดิมที่คาดไว้ว่าจะมีปริมาณการผลิต 10.14 ล้านตันข้าวเปลือก เนื่องจากชาวนาจะปลูกชดเชยข้าวที่เสียหายจากน้ำท่วมในช่วงปลายปี 2554 รวมทั้งในปี 2555 กระทรวงเกษตรฯจะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวนาปรังเพิ่มเป็น 2 รอบ เนื่องจากปริมาณน้ำเพียงพอ เพื่อทดแทนปริมาณข้าวที่หายไปจากอุทกภัยไปประมาณ 5 ล้านตันข้าวเปลือก ทั้งนี้ เมื่อรวมกับปริมาณข้าวนาปีที่คาดว่าผลผลิตจะเหลือประมาณ 20 ล้านตันข้าวเปลือก และสต็อกข้าวรัฐที่คาดว่าเหลือประมาณ 1 ล้านตันและข้าวในสต็อกเอกชนประมาณ 6 ล้านตัน ก็คาดว่าปริมาณข้าวในประเทศในปี 2555 จะมีประมาณ 38-39 ล้านตันข้าวเปลือก

ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2554 ไทยส่งออกข้าว 9.55 ล้านตัน มูลค่า 5,632.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.3 และ 39.3 คาดหมายว่าการส่งออกข้าวทั้งปี 2554 น่าจะเพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 10.45 ล้านตัน ซึ่งนับว่าเป็นการส่งออกข้าวที่สูงมากเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือนกันยายนการส่งออกข้าวมีแนวโน้มชะลอตัวในเชิงปริมาณ กล่าวคือ ตั้งแต่เดือนกันยายนปริมาณการส่งออกลดลงเหลือเพียง 0.7 ล้านตัน และในเดือนตุลาคม 0.72 ล้านตันตามลำดับ จากในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคมปริมาณการส่งออกเฉลี่ยอยู่ในระดับเฉลี่ย 1 ล้านตัน/เดือน เนื่องจากประเทศผู้ซื้อข้าวชะลอการซื้อข้าวจากไทย และหันไปซื้อข้าวจากอินเดียและปากีสถานที่มีราคาถูกกว่า ส่วนราคาส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยได้แรงหนุนจากมาตรการรับจำนำข้าว และความเสียหายจากอุทกภัยที่ส่งผลให้มีปริมาณข้าวเข้าตลาดในช่วงปลายปีลดลง ส่วนในเดือนพฤศจิกายน ลดลงเหลือ 5 แสนตัน และคาดว่าเดือนธันวาคมจะเหลือเพียง 4 แสนตัน ซึ่งเท่ากับว่าในปี 2554 ปริมาณการส่งออกข้าวจะอยู่ในระดับ 10.45 ล้านตัน

สำหรับการส่งออกในปี 2555 คาดการณ์ปริมาณการส่งออกข้าวอาจจะลดลงเหลือ 7.0-7.5 ล้านตัน เนื่องจากเผชิญการแข่งขันรุนแรงในด้านราคากับข้าวจากอินเดียและเวียดนาม ในขณะที่ราคาส่งออกข้าวของไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นจากมาตรการรับจำนำข้าว และความเสียหายจากน้ำท่วม

ขณะที่การส่งออกข้าวเวียดนามในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2554 มีจำนวน 6.8 ล้านตัน มูลค่า 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 และร้อยละ 16.7 ตามลำดับ คาดการณ์ว่าในปี 2554 เวียดนามจะส่งออกข้าวได้ 7.42 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 จากปี 2553 (โดยคาดว่าในเดือนธันวาคมจะส่งออกข้าว 617,000 ตัน) ซึ่งนับว่ามากเป็นประวัติการณ์เช่นกัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าปัญหาน้ำท่วมส่งผลให้ชาวนาในพื้นที่ภาคกลางต้องเลื่อนการปลูกข้าวนาปีไปอีกอย่างน้อย 1-2 เดือน ทำให้รัฐบาลอาจต้องพิจารณาขยายมาตรการรับจำนำข้าวนาปีออกไปอีก 1-2 เดือนเช่นกัน(จากเดิมที่กำหนดสิ้นสุดเดือนกุมภาพันธ์) รวมทั้งการพิจารณามาตรการรับจำนำข้าวสำหรับข้าวนาปรังที่จะออกสู่ตลาดในช่วงกลางปี 2555 ด้วย เนื่องจากคาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตข้าวนาปรังในปี 2555 จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากการปลูกชดเชยความเสียหายจากปัญหาน้ำท่วมในช่วงปลายปี 2554 และการที่ราคาข้าวอยู่ในเกณฑ์สูงยังเป็นแรงจูงใจให้ชาวนาเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าว รวมทั้งการส่งเสริมการปลูกข้าวนาปรังรอบสองของรัฐบาล

ประเด็นที่จะต้องติดตาม คือ ผลผลิตข้าวของเวียดนามที่ต้องเลื่อนการปลูกข้าวไปอีก 1 เดือนเช่นกัน ส่งผลให้ปริมาณข้าวจะไปออกสู่ตลาดในช่วงเดือนมีนาคม(ปกติจะออกสู่ตลาดในเดือนกุมภาพันธ์) ซึ่งจะมีผลต่อทิศทางราคาข้าวในช่วงไตรมาส 2/2555

นอกจากนี้ ผลกระทบจากการแข่งขันในการส่งออกข้าวของอินเดียและปากีสถานน่าจะยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากนักต่อเนื่องถึงในปี 2555

"ในช่วงที่เหลือของปี 2554 ต่อเนื่องถึงครึ่งแรกของปี 2555 ราคาข้าวในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไปแตะระดับใกล้เคียงกับราคารับจำนำ หรือปรับเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5-10 จากราคาเฉลี่ยในปี 2554 (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทข้าว) เนื่องจากมาตรการของรัฐบาลในการอนุมัติเพิ่มเติมให้มีการรับจำนำข้าวข้ามเขต โดยให้โรงสีในภาคกลางไปรับซื้อข้าวจากชาวนาในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือได้ ทั้งนี้เพื่อให้ชาวนาในแต่ละพื้นที่สามารถขายข้าวเข้าโครงการรับจำนำได้

ส่วนราคาข้าวในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 ต้องพิจารณาปริมาณข้าวนาปรังที่จะออกสู่ตลาด รวมทั้งมาตรการแทรกแซงราคาของรัฐบาล โดยเฉพาะการกำหนดมาตรการรับจำนำข้าวนาปรัง ส่วนราคาส่งออกคาดว่าจะยังจะปรับเพิ่มขึ้นได้ไม่มากนัก แม้ว่าจะมีแรงหนุนจากราคาข้าวในประเทศ แต่ยังต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงทั้งจากอินเดียและเวียดนาม" เอกสารเผยแพร่ระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ