Analysis: จับตาประชุมสุดยอดอียู เวทีชี้ชะตาอนาคตของยูโรโซน

ข่าวต่างประเทศ Thursday December 8, 2011 16:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้นำประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) ได้เดินทางมาประชุมครั้งสำคัญร่วมกันที่กรุงบรัสเซลส์ โดยการประชุมจะมีขึ้นในวันนี้และวันพรุ่งนี้ ซึ่งคาดว่าที่ประชุมจะหารอืกันในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสนธสัญญาที่ว่าด้วยการประสานนโยบายการคลังให้มีความสอดคล้องกันมากขึ้น

ตลาดการเงินทั่วโลกจับตาดูวิกฤตหนี้ยุโรปครั้งล่าสุดเมื่อสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (เอสแอนด์) ประกาศเครดิตพินิจแนวโน้มเชิงลบ ต่ออันดับความน่าเชื่อถือของ 15 ประเทศยูโรโซน ซึ่งรวมถึงเยอรมนีและฝรั่งเศส โดยเตือนว่าอาจจะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือหากผู้นำยุโรปไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเรื่องการหาแนวทางจัดการกับวิกฤตหนี้ ในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอียูที่กรุงบรัสเซลส์ในครั้งนี้

ล่าสุดในวันนี้ เอสแอนด์พีประกาศ เครดิตพินิจแนวโน้มเชิงลบ ต่ออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศสมาชิกอียู โดยเตือนว่า ออสเตรีย เบลเยียม ฟินแลนด์ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก อาจจะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลง 1 ขั้น พร้อมประกาศว่า "การตัดสินใจปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือนั้น มีความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดขึ้นทันที ภายหลังการประชุมสุดยอดผู้นำอียูในครั้งนี้" โป เดอ โกรเว ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเลอเว่น และเป็นหนึ่งในคณะที่ปรึกษาของนายโฮเซ มานูเอล บาร์โรโซ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวว่า "หนี้ยุโรปเป็นปัญหาที่ร้ายแรงมาก ซึ่งแม้ว่าตลาดและนักวิเคราะห์หลายคนได้ออกมาแสดงความวิตกกังวลกันมากจนเกินไป แต่อย่างไรก็ตาม หนี้ยุโรปก็เป็นปัญหาที่ร้ายแรงจริงๆ"

"อาจกล่าวได้ว่า การล่มสลายของยูโรโซนไม่ใช่เรื่องที่เกินความเข้าใจ ผมคิดว่ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อยที่จะเกิดภาวะล่มสลายของยูโรโซน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าความเป็นไปได้จะเท่ากับศูนย์" เขากล่าว

ขณะที่ จานิส เอ็มมานูอิลิดิส และฟาเบียน ซูลีก สองนักวิจัยอาวุโสของศูนย์นโยบายยุโรปซึ่งตั้งอยู่ในกรุงบรัสเซลส์ เตือนว่า เหตุการณ์ในช่วงเวลาไม่กี่วันและไม่กี่สัปดาห์นับจากนี้ จะเป็นตัวชี้ชะตาอนาคตของยูโรโซน และอาจจะรวมถึงยุโรปทั้งหมด

"แรงกดดันที่พร้อมจะแตกเป็นเสี่ยงๆของยูโรโซน จะทำให้ประเทศสมาชิกอียูและยูโรโซนตกอยู่ในฝันร้ายอย่างไม่คาดคิด ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตที่จะเกิดขึ้นทั้งในด้านการเงิน เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง" นักวิจัยทั้งสองระบุในรายงานที่เขียนขึ้นร่วมกัน

จับตาปืนใหญ่กระบอกสุดท้ายที่อียูใช้กู้วิกฤต

อาวุธที่ใช้ในการแก้ไขวิกฤตหนี้ของอียูมีอยู่อย่างจำกัดมากในเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรยูโร หรือธนาคากลางยุโรป (อีซีบี) ที่ทำหน้าที่เสมือนผู้ปล่อยกู้ทางเลือกสุดท้าย แต่ทางเลือกทั้งสองกลับได้รับการคัดค้านอย่างรุนแรงจากประเทศสมาชิกอียู รวมถึงเยอรมนี และแม้แต่อีซีบีเอง

นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคล ได้ออกมาแสดงการคัดค้านครั้งแล้วครั้งเล่าว่า เยอรมนีไม่เห็นด้วยกับการออกพันธบัตรยูโร ขณะที่นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้นางแมร์เคลยังคงมีท่าทีแข็งกร้าวในเรื่องนี้ก็คือ ยูโรโซนยังไม่มีการคุมเข้มด้านการคลังและความเป็นเอกภาพทางเศรษฐกิจที่แท้จริง

ด้าน จานิส เอ็มมานูอิลิดิส และฟาเบียน ซูลีก ได้ออกมาสนับสนุนการให้อีซีบีทำหน้าที่เป็นผู้ปล่อยกู้ทางเลือกสุดท้าย อย่างน้อยก็จนกว่าจะมีการจัดการที่ถาวร แต่ทั้งคู่ก็เตือนว่าการดำเนินการดังกล่าวอาจทำให้ยูโรโซนเผชิญกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมากขึ้น

ขณะที่ โป เดอ โกรเว กล่าวว่า เยอรมนีอาจจะไม่ประนีประนอมในเรื่องการออกพันธบัตรยูโร แต่ก็อาจจะมีท่าทีอ่อนลงในเรื่องบทบาทของอีซีบี

"ผมเกรงว่า อีซีบีจะทำหน้าที่เพียงเข้าแทรกแซงครั้งใหญ่เมื่อวิกฤตหนี้ลุกลามจนทำให้ภาคธนาคารตกอยู่ในภาวะวิกฤต" เขากล่าว และเตือนว่า "แต่การรอคอยนานเกินไป ก็อาจทำให้เศรษฐกิจเกิดความเสียหายได้ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงสนธิสัญญาจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับสถานการณ์ในเวลานี้"

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีแมร์เคลของเยอรมนี และประธานาธิบดีนิโคลาส์ ซาร์โกซีของฝรั่ง ได้แสดงความเต็มใจที่จะเปลี่ยนแปลงสนธิสัญญาว่าด้วยการประสานนโยบายการคลังให้เป็นหนึ่งเดียว โดยนายซาร์โกซีส่งสัญญาณว่า อาจจะมีการร่างสนธิสัญญาฉบับใหม่สำหรับ 17 ชาติสมาชิกยูโรโซน

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่าการเปลี่ยนแปลงสนธิสัญญาอาจต้องใช้เวลาหลายเดือน กว่าจะมีผลบังคับใช้ และการเปลี่ยนแปลงสนธิสัญญาก็ไม่สามารถขจัดปัญหาหนี้สินที่กำลังฉุดรั้งเศรษฐกิจของยุโรปได้

สิ่งที่น่าสนใจก็คือว่า คำเตือนของเอสแอนด์พีที่จะลดอันดับเครดิตประเทศยุโรปนั้น อาจจะเป็นแรงกระตุ้นให้สมาชิกอียูหรือยูโรโซน ไม่อาจเพิกเฉยที่จะเห็นพ้องต้องกันและบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้อีกต่อไป

บทวิเคราะห์โดย ฉง ต้าไห่ จากสำนักข่าวซินหัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ