การประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรป (อียู) ที่จะเปิดฉากขึ้นในวันศุกร์นี้ (9 ธ.ค.) อาจจะไม่สามารถกำหนดกรอบการกระตุ้นเศรษฐกิจและปฏิรูปโครงสร้างต่างๆเพื่อแก้ปัญหาหนี้ยุโรปได้ จากความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มหนึ่งที่ร่วมการสัมมนา ซึ่งสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสหรัฐให้การสนับสนุนอยู่
ผู้นำอียูมีกำหนดพบปะหารือกันในวันนี้ เพื่อแก้ปัญหาหนี้ในภูมิภาค และนับตั้งแต่นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคล ของเยอรมนี และประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซี ของฝรั่งเศส เห็นพ้องต้องกันว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงสนธิสัญญาอียู นักลงทุนบางส่วนจึงมองว่า ผลการประชุมครั้งนี้ต้องออกมาดี
อย่างไรก็ดี นายลูวิส อเล็กซานเดอร์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากโนมูระ กล่าวว่า เขารู้สึกสงสัยอย่างมาก
"มาตรการที่พวกเขากำลังหารือกันไม่สามารถแก้ปัญหามากมายที่มีอยู่ในขณะนี้ได้" เพราะมาตรการทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการรัดเข็มขัด ซึ่งไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ ปกป้องระบบการเงิน หรือเพิ่มทุนให้กับภาคธนาคารได้
ความเห็นของนายอเล็กซานเดอร์สอดคล้องกับไดแอน สวองค์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก Mesirow Financial โดยเธอกล่าวว่า มาตรการรัดเข็มขัดเพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้ยุโรปได้ และจำเป็นต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
"สิ่งที่ฉันกังวลที่สุดคือเราอาจตกอยู่ในวังวนของการรัดเข็มขัด ซึ่งรังแต่จะทำให้ปัญหาหนี้พอกพูน มันไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเลย" เธอกล่าว "ถ้าเศรษฐกิจไม่ขยายตัวมากพอ ยุโรปก็จะตกอยู่ในวงจรของวิกฤต ขณะที่งบดุลของธนาคารต่างๆก็จะหดตัวต่อไป"
นักเศรษฐศาสตร์หลายคนกล่าวว่า การประชุมสุดยอดผู้นำอียูขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นทางการเมืองของเยอรมนี และขึ้นอยู่กับว่า "นางแมร์เคลต้องการแค่ไหน" ขณะที่สวองค์กล่าวว่า อียูไม่ได้ขาดความมุ่งมั่นทางการเมือง แต่ชาติสมาชิกมีความเห็นที่แตกต่างกันมาก ถึงขั้นเกลียดชังกันก็ว่าได้
นายริชาร์ด เบิร์นสไตน์ ซีอีโอบริษัท ริชาร์ด เบิร์นสไตน์ แอดไวเซอร์ส กล่าวว่า "เราอยู่ในจุดเริ่มต้นของช่วงที่งบดุลของธนาคารร่วงลงอย่างหนัก ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่นานๆจะเกิดขึ้นสักครั้งหนึ่ง" นอกจากนั้นเขายังคาดการณ์ว่า ธนาคารต่างๆจะมีขนาดเล็กลงในอนาคต เพราะการปล่อยสินเชื่อที่หดตัวลงทั่วโลก สำนักข่าวซินหัวรายงาน