Xinhua's Interview:นักเศรษฐศาสตร์โนเบลชี้ข้อเสนออียูไม่เพียงพอแก้วิกฤติ

ข่าวต่างประเทศ Friday December 9, 2011 13:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายคริสโตเฟอร์ เอ. ซิมส์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปี 2554 สาขาวิทยาศาสตร์เศรษฐกิจให้สัมภาษณ์กับนักข่าวซินหัวว่า ข้อเสนอของผู้นำประเทศยุโรปในที่ประชุมสุดยอดที่กรุงบรัสเซลส์นั้น ยังไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาวิกฤติหนี้สินของยูโรโซน

"ผมไม่คิดว่าข้อเสนอที่กลุ่มผู้นำประเทศเสนอทั้งหมดมาจะเพียงพอ ผมคิดว่ามันดูเหมือนเป็นการตอกย้ำการลงโทษประเทศที่จัดทำงบประมาณขาดดุล และไม่ได้ตรงกับความต้องการของประเทศเหล่านั้น ที่ต้องการใช้เป็นกลไกในการรับประกันเพื่อไม่ให้วิกฤติลุกลามไปยังประเทศที่กำลังเผชิญกับความยากลำบากชั่วคราว" นายซิมส์กล่าวภายหลังการกล่าวบรรยายเกี่ยวกับรางวัลโนเบลของเขาที่มหาวิทยาลัยสต๊อกโฮล์ม

รายละเอียดของแผนที่เสนอโดยฝรั่งเศสและเยอรมนีในช่วงก่อนหน้านี้ บ่งชี้ถึงบทลงโทษโดยอัตโนมัติต่อประเทศสมาชิกที่ละเมิดกฎของอียู ซึ่งกำหนดเอาไว้ว่า ยอดขาดดุลงบประมาณจะต้องไม่เกิน 3% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)

"ผมคิดว่าการเน้นย้ำในจุดต่างๆ ได้มุ่งไปที่การรัดเข็มขัดของกลุ่มประเทศในภาคใต้ของยุโรปซึ่งกำลัง ประสบกับความยากลำบากในเรื่องหนี้สิน และการรัดเข็มขัดมีความเข้มงวดเกินความจำเป็นถ้าหากว่า ประเทศเหล่านั้นใช้เงินสกุลของตนเอง" นายซิมกล่าว

นายซิมส์เชื่อว่า สหภาพยุโรปจะเข้าสู่วัฏจักรที่เลวร้ายหากวิกฤติหนี้สาธารณะนำไปสู่การลงโทษที่รุนแรงมากขึ้น และมาตรการรัดเข็มขัดจะนำไปสู่อัตราว่างงานที่สูงขึ้น

เขายกตัวอย่างว่า สเปน ซึ่งเป็นประเทศที่มีนโยบายการคลังที่ดีแต่โชคร้าย และการลงโทษสเปนด้วยมาตรการรัดเข็มขัดที่เข้มงวดจนเกินไปไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง

"ผมคิดว่า เพื่อให้เงินยูโรประสบความสำเร็จ ต้องค้นหากลไกในการร่วมแบ่งปันความโชคดีและโชคร้าย ของสหภาพยุโรปให้พบ ดังนั้นความเข้มงวดของมาตรการรัดเข็มขัดสำหรับแต่ละประเทศควรจะแตกต่างกัน" เขากล่าว

ตามความคิดเห็นของนายซิมส์ ศักยภาพของแต่ละประเทศ เช่น สเปน ในการกระตุ้นตลาดภายในประเทศอาจมีข้อจำกัดเนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของตลาดการเงินยุโรป จึงต้องมีการแก้ไขข้อกำหนดทางการเงินและการคลังของอียู

สำหรับคำถามที่ว่า ข้อเสนอในการออกพันธบัตรยูโรเป็นแนวความคิดที่ดีหรือไม่ นายซิมส์ตอบคำถามในแง่ค่อนข้างดี

"ผมคิดว่านั่นควรจะเป็นส่วนหนึ่งในวิธีแก้ปัญหา ซึ่งหากไม่มีพันธบัตรยูโร ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ก็อาจจะเผชิญกับความยุ่งยากในการทำหน้าที่เป็นผู้ปล่อยเงินกู้แหล่งสุดท้าย ผมคิดว่าผู้ปล่อยกู้แหล่งสุดท้ายมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับทุกประเทศ" เขากล่าว

"ประเด็นที่สำคัญก็คือ จะมีสถาบันในระดับเดียวกับอียูที่สามารถออกพันธบัตรและภาษีได้หรือไม่" นายซิมส์กล่าวเสริม

บทสัมภาษณ์โดยซูเฟย์ เฉิน, อเซลส์สัน สำนักข่าวซินหัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ