การประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงบรัสเซลส์ได้เสร็จสิ้นลงแล้วในช่วงค่ำวานนี้ (9 ธ.ค.) ตามเวลาไทย โดยข้อสรุปและสาระสำคัญของการประชุมมีดังนี้ :
-- ที่ประชุมอียูเห็นพ้องต้องกันว่า ให้มีการกำหนด "บทบัญญัติทางการคลัง" (fiscal compact) ฉบับใหม่ ที่ตั้งอยู่บนสนธิสัญญาระหว่างรัฐบาล (inter-governmental treaties) และเพิ่มความแข็งแกร่งในการประสานนโยบายเศรษฐกิจในประเด็นที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน แทนการเปลี่ยนแปลงสนธิสัญญาของอียู โดยมีเป้าหมายหลักคือการแก้ไขวิกฤตหนี้ยุโรป
การที่อียูไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสนธิสัญญาได้นั้น เป็นเพราะอังกฤษปฏิเสธที่จะให้การสนับสนุนบทบัญญัตินี้ เนื่องจากอังกฤษต้องการคุ้มครองภาคการเงินภายในประเทศของตนเอง
-- ที่ประชุมมีมติว่า ประเทศสมาชิกยูโรโซนจะมียอดขาดดุลงบประมาณต่อปีได้ไม่เกิน 0.5% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) โดยมีเป้าหมายที่จะป้องกันการลุกลามของวิกฤตหนี้
-- ที่ประชุมเล็งเห็นว่าประเทศสมาชิกควรจะบริหารยอดขาดดุลงบประมาณให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 3% ของจีดีพีอยู่เสมอ เพื่อเป็นการเสริมสร้างเสถียรภาพด้านการคลัง แต่เนื่องจากประเทศสมาชิกยูโรโซนยังคงอยู่ในระหว่างการพิจารณาว่าควรจะลงมติให้มีการลงโทษโดยอัตโนมัติแก่ประเทศที่ละเมิดกฎดังกล่าวหรือไม่ จึงยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการใช้บทลงโทษโดยอัตโนมัติในเรื่องนี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อใด
-- ผู้นำอียูมีมติให้ร่นระยะเวลาการใช้กลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป (ESM) ให้เร็วขึ้นจากเดิม 1 ปี โดยกำหนดว่าจะเปิดใช้ ESM ในเดือนก.ค. 2555 ส่วนกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (EFSF) จะยังคงดำเนินงานต่อไปจนถึงกลางปี 2556 นอกจากนี้ ผู้นำอียูยังลงมติว่า กองทุน ESM/EFSF ควรมีศักยภาพด้านการปล่อยเงินกู้ในวงเงิน 5 แสนล้านยูโร และผู้นำอียูจะตัดสินใจภายในเดือนมี.ค. 2555 ว่าจำเป็นจะต้องแก้ไขข้อตกลงว่าด้วยการกำหนดขีดความสามารถในการปล่อยกู้ในวงเงินดังกล่าวหรือไม่
อย่างไรก็ ที่ประชุมไม่อนุญาตให้กองทุน ESM ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคาร เพราะเกรงว่าถ้าหาก ESM ได้รับสถานะเป็นธนาคารแล้ว จะทำให้ ESM ได้รับสิทธิในการกู้เงินจากมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ซึ่งจะเป็นการฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ของอียู
-- ที่ประชุมอียูมีมติให้จัดหาเงินทุนวงเงิน 2 แสนล้านยูโรให้กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพื่อช่วยให้ไอเอ็มเอฟมีศักยภาพในการแก้ไขวิกฤติหนี้สินยูโรโซนได้มากขึ้น โดยประเทศสมาชิกอียูจะกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ภายในระยะเวลา 10 วัน
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวเกียวโดรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวด้านการเงินระหว่างประเทศว่า ในเบื้องต้นนั้นมีการตกลงกันว่า จะให้ธนาคารกลางของประเทศต่างๆในยุโรปเป็นผู้จัดหาเงินทุนให้กับไอเอ็มเอฟ โดยธนาคารกลางของกลุ่มยูโรโซนจะรับภาระจัดหาเงินทุนในวงเงิน 1.50 แสนล้านยูโร ส่วนที่เหลืออีก 5 หมื่นล้านยูโรจะรับภาระโดยธนาคารกลางของอังกฤษและประเทศอื่นๆนอกกลุ่มยูโรโซน
-- ที่ประชุมมีมติให้เลื่อนการพิจารณาเรื่องการออกพันธบัตรยูโร หรือ ยูโรบอนด์ ไปเป็นเดือนมิ.ย.ปีหน้า