ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ยูโรร่วงต่ำสุดรอบ 11 เดือนหลังบอนด์ยีลด์อิตาลีพุ่ง

ข่าวต่างประเทศ Thursday December 15, 2011 07:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สกุลเงินยูโรร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 11 เดือนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (14 ธ.ค.) โดยเงินยูโรดิ่งลงสู่ระดับต่ำกว่า 1.30 ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของอิตาลีที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ประกอบกับความเป็นไปได้ที่ 15 ประเทศของยูโรโซนจะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือนั้น จะยิ่งทำให้วิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรปทวีความรุนแรงมากขึ้น

ค่าเงินยูโรร่วงลง 0.43% สู่ระดับ 1.2977 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันอังคารที่ 1.3033 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินปอนด์ขยับลงมาอยู่ที่ระดับ 1.5465 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.5478 ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐขยับขึ้น 0.06% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 78.030 เยน จากระดับ 77.980 เยน และพุ่งขึ้น 0.75% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ระดับ 0.9530 ฟรังค์ จากระดับ 0.9459 ฟรังค์

ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียร่วงลง 1% สู่ระดับ 0.9906 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.0006 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ดิ่งลง 0.71% สู่ระดับ 0.7505 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7559 ดอลลาร์สหรัฐ

สกุลเงินยูโรร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 11 เดือน หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 5 ปีของอิตาลีพุ่งขึ้นแตะระดับ 6.47% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2540 หรือในรอบ 14 ปี หรือก่อนที่จะเริ่มมีการใช้เงินยูโรในปี 2542 ในการประชุมพันธบัตรครั้งล่าสุดเมื่อวานนี้

ความวิตกกังวลเกี่ยวกับหนี้สินของรัฐบาลอิตาลีที่มีอยู่มากถึง 1.9 ล้านล้านยูโร หรือ 120% ของจีดีพี ส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมของอิตาลีพุ่งขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งทำให้อิตาลีถูกมองว่ามีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่เกินกว่าที่ประเทศสมาชิกในยูโรโซนจะให้ความช่วยเหลือได้ด้วยกองทุนกู้วิกฤต

นอกจากนี้ สกุลเงินยูโรยังคงได้รับปัจจัยลบจากคำเตือนของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (เอสแอนด์) และมูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ที่ว่า ประเทศสมาชิกยูโรโซน และสหภาพยุโรป (อียู) อาจจะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือหากที่ประชุมอียูไม่สามารถบังคับใช้มาตรการที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมวิกฤตหนี้สาธารณะ

ในการประชุมสุดยอดผู้นำอียูเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สมาชิก 26 ประเทศของอียูมีมติเห็นชอบให้ใช้บทบัญญัติทางการคลัง แต่เนื่องจากอังกฤษไม่เห็นด้วยกับบทบัญญัติดังกล่าว จึงทำให้ที่ประชุมไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสนธิสัญญาอียูอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งทำได้แต่เพียงการทำข้อตกลงใช้ "บทบัญญัติทางการคลัง" ที่อิงตามสนธิสัญญาระหว่างรัฐบาล (inter-governmental treaties) เท่านั้น

สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนแห่เข้าซื้อ เพราะมองว่าดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยในช่วงที่วิกฤตหนี้ยุโรปกำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก นอกจากนี้ สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐยังได้รับปัจจัยบวกจากการที่นักลงทุนเข้าซื้อเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเงินเฟ้อ หลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ราคานำเข้าของสหรัฐในเดือนพ.ย.พุ่งขึ้น 0.7% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดในรอบ 7 เดือน

ทางการสหรัฐจะเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ รวมถึงดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนพ.ย., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ข้อมูลการผลิตในภาคอุตสาหกรรม และดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนพ.ย.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ