กรมชลฯ พร้อมสนับสนุนเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง 54/55 หลังปริมาณน้ำเต็มอ่างฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 15, 2011 13:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำกรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำ ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 ซึ่งนับได้ว่า เป็นการเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูแล้งและเป็นฤดูของการส่งน้ำเพื่อสนับสนุนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งของทุกปี(ฤดูแล้งและฤดูการส่งน้ำ เริ่มตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน — 30 เมษายน ของทุกปี) ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งหมด 65,609 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 94 ของปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันทั้งหมด มีปริมาณน้ำที่สามารถนำมาใช้การได้ จำนวน 41,970 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 60 ของปริมาณน้ำรวมกันทั้งหมด หากเปรียบเทียบ ณ เวลาเดียวกัน จะพบว่าปริมาณน้ำในปี 2554 มากกว่าปี 2553 จำนวน 13,439 ล้านลูกบาศก์เมตร

สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สำคัญๆ ณ วันที่ 1 พ.ย. 54 มีดังนี้ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 13,394 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 99 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 9,594 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 9,495 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 100 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 6,645 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 943 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 100 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 900 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 1,017 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 130 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 1,014 ล้านลูกบาศก์เมตร

อนึ่ง กรมชลประทาน ร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร ได้กำหนดแผนการเพาะปลูกพืชและการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2554/2555 แล้ว ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าในปีนี้อ่างเก็บน้ำทุกแห่งมีปริมาณน้ำเต็มความจุของอ่างฯ ส่งผลให้ในฤดูแล้งปีนี้ กรมชลประทานจะสามารถจัดสรรน้ำและส่งน้ำ เพื่อสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งได้อย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถทำการเพาะปลูกพืชแล้ง โดยเฉพาะข้าวนาปรังได้อย่างเต็มพื้นที่ เพื่อเป็นการชดเชยผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมใหญ่ในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ