(เพิ่มเติม1) ม.หอการค้าไทย คาด GDP Q4/54 ติดลบ 3.7% ทั้งปีโต 1.4%,ปี 55 โต 4.7%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 15, 2011 14:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ(GDP) ของประเทศไทย ในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้จะขยายตัวติดลบ 3.7% ส่วนทั้งปีจะขยายตัวในอัตรา 1.4% ขณะที่การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น 16.5% จากปีก่อน, นำเข้าโต 29.9%, เกินดุลการค้า 15,947 ล้านดอลลาร์, อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยทั้งปีที่ 30.50 บาท/ดอลลาร์, อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปีที่ 3.25%, อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 3.9% และอัตราการว่างงานที่ 1%

ส่วนปี 55 คาดการณ์ว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจโต 4.7%, การส่งออกโต 10.2%, นำเข้าโต 15.9%, เกินดุลการค้า 5,567 ล้านดอลลาร์, อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยทั้งปีที่ 29-30 บาท/ดอลลาร์, อัตราดอกเบี้ยนนโยบาย ณ สิ้นปีที่ 3.75-4.0%, อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 3.5-4% และอัตราการว่างงานที่ 0.7%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 54 จะเติบโตได้เพียง 1.4% ต่ำสุดในรอบ 2 ปี หลังจากที่เคยติดลบในปี 52 โดยสาเหตุที่เศรษฐกิจเติบโตได้เพียง 1.4% ลดลงจากที่เคยประเมินไว้ในช่วงเดือน ต.ค.ว่าจะเติบโตได้ถึง 3.6% เนื่องจากผลพวงของเหตุอุทกภัยสร้างความเสียหายเป็นมูลค่าที่มากขึ้นและขยายจากภาคเกษตรกรรมไปยังภาคอุตสาหกรรมจากที่นิคมอุตสาหกรรมถึง 7 แห่งได้รับความเสียหายจากเหตุน้ำท่วมในปีนี้

“ตอน ต.ค.น้ำท่วมยังสร้างความเสียหายแค่ภาคเกษตร ราว 4-5 หมื่นล้านบาท แต่พอมา พ.ย.มีความเสียหายจากที่น้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มเข้ามาด้วย รวมถึง 3.5 แสนล้านบาท เราจึงคาดว่า GDP ปีนี้จะโตได้เพียง 1.4% เท่านั้น" นายธนวรรธน์ ระบุ

พร้อมมองว่า ในไตรมาส 4/54 นี้ เศรษฐกิจไทยจะติดลบ 3.7% จากผลกระทบโดยตรงเหตุอุทกภัยครั้งรุนแรง ทำให้เศรษฐกิจยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ทัน ประกอบกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 10 ปี ส่งผลให้ประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอยอย่างระมัดระวัง นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมเองยังไม่สามารถกลับมาผลิตสินค้าเพื่อป้อนในประเทศและส่งออกได้ตามปกติ ทำให้โดยรวมแล้วภาคเศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังชะลอตัวทั้งด้านการบริโภคและการลงทุนในช่วงไตรมาส 4/54 และมีแนวโน้มจะต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาส 1/55

นายธนวรรธน์ มองว่า เศรษฐกิจไทยจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวได้อย่างชัดเจนตั้งแต่กลางปี 55 เป็นต้นไป โดยคาดว่าครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยจะโตได้ราว 3-4% ส่วนครึ่งปีหลังโตได้ราว 5-7% ส่งผลให้ทั้งปี 55 เศรษฐกิจไทยจะโต 4.7% ภายใต้สถานการณ์และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกปีหน้าที่จะเติบโตในระดับ 4% ในปีหน้าคาดว่าจะมีเม็ดเงินที่เข้ามาช่วยในระบบเศรษฐกิจประมาณ 5 แสนล้านบาท อันเป็นตัวหนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ในระดับดังกล่าว โดยเม็ดเงินที่เข้ามานี้จะมีทั้งจากการปล่อยสินเชื่อผ่านสถาบันการเงิน, งบประมาณของภาครัฐ และเงินจากยอดขาดดุลงบประมาณ

ทั้งนี้ มองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 55 ยังมีโอกาสเติบโตได้มากกว่า 4.7% โดยมีโอกาสโตได้ 5-7% ตามที่รัฐบาลคาดหวังไว้ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น เศรษฐกิจโลกจะต้องไม่ซบเซาลงไปกว่านี้, การส่งออกไทยปีหน้าต้องขยายตัวได้มากกว่า 15%, รัฐบาลต้องมีนโยบายในการผ่อนคลายการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ซึ่งในจุดนี้จะเป็นตัวเพิ่มกำลังซื้อในประเทศและมีผลช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้

“นโยบายรัฐบาลจะต้องผ่อนคลายการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งถ้าทำได้ในช่วงก.พ.-มี.ค. ประมาณ 2 แสนล้านบาท ก็จะช่วยเคลื่อนเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น ประกอบกับไตรมาสแรกปีหน้าที่งบประมาณเริ่มขับเคลื่อน และแผนฟื้นฟูสาธารณูปโภคต่างๆ เริ่มได้เห็นในช่วงกลางปีหน้า ก็มีโอกาสที่ GDP จะโตได้ 5-7% ตามที่รัฐบาลต้องการ" นายธนวรรธน์ กล่าว

อย่างไรก็ดี ในทางกลับกันยังมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยปีหน้าจะเติบโตได้เพียง 2-3% เช่นกัน หากเศรษฐกิจโลกในปีหน้าเกิดความพลิกผัน จากเหตุที่กรีซไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดในช่วงเดือนมี.ค.55 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกได้ และกระทบให้เศรษฐกิจไทยโตเหลือเพียง 2-3%

“ถ้า มี.ค.55 กรีซไม่สามารถชำระหนี้ได้ โลกจะกระเทือน เพราะหากปัญหานี้เกิดขึ้นจริงจะกระทบต่อการส่งออก และเศรษฐกิจของไทยด้วย แต่ในมุมมองนี้เราให้น้ำหนักเพียงแค่ 25% เราให้น้ำหนักในทางบวกมากกว่าที่เศรษฐกิจไทยจะโตได้มากกว่า 5%" นายธนวรรธน์ ระบุ

          ด้านนายวชิร คูณทวีเทพ อาจารย์ประจำศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยรายภูมิภาคในไตรมาส 4/54 และตลอดทั้งปี 54 ว่า นักธุรกิจและผู้ประกอบการภาคเอกชนในแต่ละภูมิภาคมองว่า ปัจจัยบวกสำคัญที่มีผลต่อเศรษฐกิจภูมิภาคมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ รองลงมา คือ งบประมาณการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ และอันดับ 3 คือ ราคาพืชผลทางการเกษตร ขณะที่ปัจจัยลบสำคัญ 3 อันดับแรกที่มีผลต่อเศรษฐกิจภูมิภาค คือ ภัยธรรมชาติ รองลงมาคือ ราคาสินค้า และอันดับ 3 คือ ภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบัน
          ทั้งนี้หากแยกสรุปภาวะเศรษฐกิจเป็นรายภูมิภาค พบว่า ในไตรมาส 4/54 เศรษฐกิจภาคเหนือจะหดตัว 1.3% เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น, ผลผลิตภาคการเกษตรชะลอตัวลง, ภาคอุตสาหกรรม การบริโภค และการลงทุนชะลอตัวลง โดยคาดว่าทั้งปี 54 เศรษฐกิจภาคเหนือจะขยายตัวเพียง 1.3% ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คาดว่าไตรมาส 4/54 เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 2.7% เนื่องจากราคาสินค้ายังอยู่ในระดับสูง, ภาคอุตสาหกรรม การบริโภค และการลงทุนยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
          ส่วนภาคกลาง คาดว่าไตรมาส 4/54 เศรษฐกิจจะหดตัว 7.8% เนื่องจากน้ำท่วมในนิคมอุตสาหกรรมทำให้วัตถุดิบในการผลิตขาดแคลน ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัว ราคาสินค้าเกษตรยังทรงตัวในระดับสูง แต่ปริมาณผลผลิตที่เสียหายไปกับน้ำท่วมยังมีสัดส่วนที่สูง นอกจากนี้การบริโภคและการลงทุนเริ่มมีสัญญาณที่ชะลอตัวลงหลังจากน้ำท่วม โดยคาดว่าทั้งปี 54 เศรษฐกิจภาคกลางจะขยายตัวได้ 2.5%
          สำหรับภาคใต้ คาดว่าไตรมาส 4/54 เศรษฐกิจจะขยายตัว 2.5% เนื่องจากยังมีนักท่องเที่ยวชาวเอเชียเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในแถบภาคใต้ ราคาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะยางพาราและพืชพลังงานยังอยู่ในระดับสูง การบริโภคและการลงทุนยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง จึงคาดว่าทั้งปี 54 เศรษฐกิจภาคใต้จะขยายตัวได้ 1.1%
          ขณะที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล คาดว่าไตรมาส 4/54 เศรษฐกิจจะหดตัว 4.6% เนื่องจากปัญหาน้ำท่วมในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จนทำให้หลายกิจการต้องปิดตัวชั่วคราวและมีการปลดคนงาน โรงงานอุตสาหกรรมไม่สามารถผลิตสินค้าได้ การลงทุนชะลอตัวลงมาก เพราะรอความชัดเจนจากนโยบายรัฐบาล อย่างไรก็ดี การบริโภคมีสัญญาณสูงขึ้นจากความตระหนกของประชาชน ส่วนการส่งออกยังขยายตัวได้ต่อเนื่องเช่นเดียวกับภาคการเงิน โดยคาดว่าทั้งปี 54 เศรษฐกิจกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะขยายตัวได้เพียง 1%

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ