สถาบันอาหาร ปรับลดคาดการณ์ส่งออกปีนี้หลังน้ำท่วมส่งผลเสียหาย, ปีหน้าขยายตัวเล็กน้อย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 15, 2011 15:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวถึงผลกระทบจากอุทกภัยครั้งใหญ่ ด้านอุตสาหกรรมอาหาร ประเมินว่า มีจำนวนโรงงานที่ได้รับผลกระทบทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 1,300 ราย หรือ ประมาณ 15% ของโรงงานอาหารทั้งหมด เป็นโรงงานในภาคเหนือและภาคกลางที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขั้นวิกฤติเดือดร้อนรุนแรงประมาณ 350 ราย ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล (ไม่รวมสมุทรปราการ) มากกว่า 950 ราย เฉพาะนิคมอุตสาหกรรม 7 แห่งในอยุธยา และปทุมธานี มีโรงงานขนาดใหญ่และขนาดกลางรวม 38 ราย นอกจากนี้ยังมีโรงงานอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องประเภทบรรจุภัณฑ์ ส่วนผสมอาหาร ฉลากอีกมากกว่า 30 ราย ที่ส่วนใหญ่กระจายอยู่ในพื้นที่แถบกรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี สมุทรสาคร และอยุธยา

ขณะเดียวกันโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดอื่นๆ เกิดการชะลอการผลิตลงอย่างน้อย 10-30% เนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบ สินค้าหลายรายการปรับราคาสูงขึ้น ตลาดต่างประเทศขาดความมั่นใจในช่วงเวลาส่งมอบสินค้า จึงสั่งซื้อลดลงหรือชะลอการสั่งซื้อ

"จากสถานการณ์ดังกล่าวสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมอาหารและเสียโอกาสทางธุรกิจในเบื้องต้นมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท จากการหยุดกิจการขั้นต่ำ 3 เดือน จึงนำมาซึ่งการปรับคาดการณ์มูลค่าส่งออกอาหารปี 2554 เหลือ 963,000 ล้านบาท จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตาม มองว่าเป้าการส่งออกอาหารที่ 1 ล้านล้านบาทสามารถทำได้ชัวร์ๆ คือในอีก 2-3 ปีข้างหน้า หรือประมาณปี 2558"นายเพ็ชร กล่าว

นายเพ็ชร กล่าวถึงภาพรวมการส่งออกอาหารไทยในปี 2555 จะอยู่ใกล้เคียงกับมูลค่าการส่งออกปีนี้ โดยการส่งออกปีหน้าคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 971,000 ล้านบาท ซึ่งจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง 0.8% จากปี 2554 ที่คาดว่าการส่งออกอาหารจะมีมูลค่า 963,000 ล้านบาท ซึ่งขยายตัวตัวเพิ่มขึ้น 20.0% จากปีก่อน โดยการส่งออกอาหารไทยในช่วง 10 เดือนของปีนี้มีปริมาณการส่งออก 28.53 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 19.0% มีมูลค่ากว่า 812,553 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 22.3% โดยสินค้าส่งออกหลักส่วนใหญ่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า

ด้านปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อการค้าอาหารของไทยในปี 2555 ได้แก่ ปัญหาเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะวิกฤตหนี้ยุโรป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อค่าเงินยูโร ผู้ส่งออกจึงต้องปรับตัวรับความผันผวน รวมทั้งอาจต้องระวังเรื่องการชำระค่าสินค้าล่าช้า หรือผิดชำระหนี้ที่อาจเกิดขึ้นได้

ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีแนวโน้มอ่อนตัวลงเล็กน้อย ซึ่งแม้จะเป็นปัจจัยบวกช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับผู้ประกอบการ แต่จะทำให้รายได้ลดลงตามราคาวัตถุดิบที่ลดลง โดยเฉพาะสินค้าเกษตรอาหาร และสินค้าโภคภัณฑ์ที่ผู้ส่งออกไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

นอกจากนี้ ความผันผวนของเงินยูโรจะกระทบต่อสินค้าอาหารส่งออกและนำเข้าของไทย โดยสินค้าส่งออกไทยไปยุโรปมีมูลค่า 1 แสนล้านบาทต่อปี เป็นการค้าที่อยู่ในรูปเงินยูโรประมาณ 2 หมื่นล้านบาท สินค้าได้แก่ ไก่ กุ้ง ทูน่า ส่วนกลุ่มผู้นำเข้าวัตถุดิบและอาหารสำเร็จรูปจากยุโรป เช่น อาหารสัตว์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็ได้รับผลกระทบเหมือนกัน โดยสินค้านำเข้ามีการชำระด้วยเงินยูโรเกือบ 40% ใกล้เคียงกับเงินเหรียญสหรัฐ

สำหรับสินค้าส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีในปีหน้า ได้แก่ ไก่และสัตว์ปีกที่มีตลาดหลักอยู่ในประเทศญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป เนื่องจากไก่เป็นโปรตีนเนื้อสัตว์ที่มีราคาถูกเมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ชนิดอื่น จึงเหมาะกับภาวะการณ์ที่ประเทศเหล่านี้กำลังประสบอยู่

การส่งออกน้ำตาลทรายในปีหน้า คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปี 2554 เล็กน้อยขณะที่การส่งออกเครื่องปรุงรส คาดว่าจะขยายตัวในอัตราเกิน 10% ต่อเนื่องเป็นปีที่ 10 ติดต่อกันตามการขยายตัวของผู้บริโภค ส่วนกลุ่มอาหารทะเล เช่น กุ้ง ทูน่า ปลากระป๋อง จะมีการส่งออกขยายตัวเพิ่มเล็กน้อย เนื่องจากปัญหาเรื่องต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น

ส่วนสินค้าที่มีแนวโน้มว่าจะมีการส่งออกลดลงในปีหน้า คือ ข้าว ที่คาดว่าจะส่งออกได้ประมาณ 8.5-8.6 ล้านตัน ลดลง 13.8% จากปี 2554 ที่คาดว่าไทยจะส่งออกข้าวได้ 10.5 ล้านตัน เนื่องจากผลผลิตข้าวในประเทศผู้บริโภคข้าวรายใหญ่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น บวกกับราคาข้าวไทยที่มีราคาสูงกว่าคู่แข่งในประเทศอื่น จึงทำให้การแข่งขันในเรื่องราคาทำได้ยาก โดยเฉพาะข้าวนึ่งมีโอกาสที่ไทยจะเสียตลาดให้กับอินเดีย หลังจากอินเดียอนุญาตให้เอกชนสามารถส่งออกข้าวได้อย่างเสรี ทำให้การส่งออกข้าวของไทยเริ่มลดลงตั้งแต่ช่วงต้นไตรมาส 4 ของ 2554 และคาดว่าจะลดลงจนถึงกลางปี 2555 แต่ทว่าอาจจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

นายโชคชัย เศรษฐีวรรณ รองนายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า สถานการณ์ส่งออกข้าวไทยในปี 55 ถือว่าค่อนข้างท้าทายอย่างมาก เนื่องจากคาดการณ์ผลผลิตข้าวของอินเดียในปีหน้าจะสูงถึง 100 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่ผลผลิตข้าวของอินเดียอยู่ที่ 95.3 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการบริโภคข้าวทั้งโลกคาดว่าจะมีประมาณ 32.9 ล้านตัน ลดลงจากปีนี้ที่อยู่ที่ 34.4 ล้านตัน แปลว่าอินเดียอาจจะเร่งส่งออกข้าวเพื่อรักษาระดับสต็อกให้ใกล้เคียงกับปีนี้ที่ 23-24 ล้านตัน ซึ่งแปลว่ามีโอกาสมากที่ปีหน้าอินเดียจะเร่งการส่งออก

หันกลับมาดูประเทศไทยเนื่องจากคาดการณ์ว่าปีหน้าน้ำจะมาก และราคาข้าวอยู่ในระดับสูง ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายรับจำนำในราคาสูงของรัฐบาล จึงมีความเป็นไปได้ว่าเราอาจจะได้เห็นชาวนาข้าวของไทยทำนาปรังรอบ 2

สำหรับการส่งออกข้าวไทยในปี 2554 คาดว่าไทยจะส่งออกได้สูงถึง 10.5 ล้านตัน ล่าสุดส่งออกข้าวได้แล้ว 10.1 ล้านตัน จะเป็นการทำลายสถิติการส่งออกข้าวสูงสุดของไทยอีกครั้งหนึ่งในปีนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ