ภาวะตลาดทองคำนิวยอร์ก: วิตกปัญหาหนี้ยุโรป ฉุดทองคำปิดร่วง $9.7

ข่าวต่างประเทศ Friday December 16, 2011 06:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วลงเมื่อคืนนี้ (15 ธ.ค.) ซึ่งเป็นการปิดลบติดต่อกัน 4 วันทำการ เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้ยุโรป หลังจากผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เตือนว่า วิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรปกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นและไม่สามารถแก้ไขได้โดยประเทศใดประเทศหนึ่ง

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ.ร่วงลง 9.7 ดอลลาร์ หรือ 0.6% ปิดที่ 1,577.2 ดอลลาร์/ออนซ์ หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 1595.0 - 1570.0 ดอลลาร์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค.เพิ่มขึ้น 33.9 เซนต์ ปิดที่ 29.274 ดอลลาร์/ออนซ์ และสัญญาโลหะทองแดงส่งมอบเดือนมี.ค.ลดลง 1.15 เซนต์ ปิดที่ 3.267 ดอลลาร์/ปอนด์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค.พุ่งขึ้น 1.05 ดอลลาร์ ปิดที่ 620.65 ดอลลาร์/ออนซ์ และสัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนม.ค.ดิ่งลง 19.30 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,407 ดอลลาร์/ออนซ์

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ในช่วงเช้านั้น สัญญาทองคำ COMEX ดีดตัวขึ้น หลังจากสกุลเงินยูโรดีดตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดในรอบ 11 เดือน ขณะที่ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับฐานขึ้นด้วยเช่นกัน หลังจากสหรัฐเปิดเผยว่าจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 10 ธ.ค. ร่วงลง 19,000 ราย แตะระดับ 366,000 ราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปีครึ่ง

แต่สัญญาทองคำอ่อนแรงลงในช่วงบ่าย หลังจากนางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟเตือนว่า วิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรปกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นและไม่สามารถแก้ไขได้โดยประเทศใดประเทศหนึ่งเพียงลำพัง พร้อมกับกล่าวว่า หากปราศจากความร่วมมือของนานาประเทศแล้ว ทั่วโลกอาจจะเผชิญกับวิกฤตการณ์แบบเดียวกับเมื่อช่วงศตวรรษที่ 1930 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2

การแสดงความคิดเห็นดังกล่าวทำให้นักลงทุนเริ่มกลับมาวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้ยุโรปอีกครั้ง แม้รัฐบาลสเปนประสบความสำเร็จในการประมูลขายพันธบัตรเมื่อวานนี้ก็ตาม

นอกจากนี้ ความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหนี้ยุโรปยังกระตุ้นให้นักลงทุนแห่เข้าไปถือครองสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ส่งผลให้ดอลลาร์แข็งแกร่งขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ซึ่งการแข็งค่าของดอลลาร์ได้สร้างแรงกดดันให้กับตลาดทองคำในอีกทางหนึ่งด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ