นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ในวันนี้กรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้ลงนามร่วมกับ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ในโครงการปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูสถานประกอบการน้ำมันเชื้อเพลิงวงเงิน 600 ล้านบาท
การปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูสถานประกอบการน้ำมันเชื้อเพลิงวงเงิน 600 ล้านบาทนี้ จะช่วยลดผลกระทบของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ประกอบกิจการสถานีบริการน้ำมัน สถานีบริการก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือ แอลพีจี สถานีบรรจุก๊าซแอลพีจี รถขนส่งน้ำมัน และรถขนส่งก๊าซแอลพีจี ที่ได้รับความเสียหายจากปัญหาอุทกภัย โดยจะปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการดังกล่าวไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อราย ผ่อนนานสูงสุดไม่เกิน 6 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นไม่เกิน 2 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 3 ต่อปี ตลอดอายุสัญญา ผู้ที่สนใจสามารถยื่นขอสินเชื่อได้ที่เอสเอ็มอีแบงก์ทุกสาขาทั่วประเทศ ไปจนถึงสิ้นสุดวันขอรับคำขอกู้ภายใน 31 มีนาคม 2555
นอกจากนี้ ในวันที่ 21 ธันวาคมนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เตรียมเข้าพบน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อหารือถึงการนำเงินจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานจำนวน 2,000 ล้านบาท มาช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากน้ำมันท่วมในการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ เครื่องจักร
ทั้งนี้ ได้กำชับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน ให้เตรียมความพร้อมในการรักษาความปลอดภัยสถานประกอบการด้านพลังงาน ทั้งโรงบรรจุก๊าซ โรงกลั่น สถานีบริการน้ำมัน ให้ระมัดระวังอย่างเข้มงวด
ด้านนายโสฬส สาครวิศว กรรมการผู้จัดการ เอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผยว่า วงเงินสินเชื่อฟื้นฟูธุรกิจเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยที่ขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เพื่อให้เอสเอ็มอีแบงก์ปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการ โดยงบประมาณที่ใช้ในการฟื้นฟู ทั้งตัวโรงงานและเครื่องจักร ทั้งระยะกลางและระยะยาว แบ่งเป็น 2 แพกเกจ โดยแพกเกจวง 1หมื่นล้านบาทแรกจะปล่อยกู้รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท ให้กับธุรกิจขนาดเล็ก อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 6 ไม่เกิน 6 ปี โดยไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันและหลักทรัพย์ค้ำประกัน
ส่วนแพกเกจที่ 2 อีก 1 หมื่นล้านบาท จะปล่อยกู้รายละไม่เกิน 5 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย MLR — 2 ซึ่งจะต้องมีผู้ค้ำประกัน
สำหรับในปี 55 คาดว่า ยอดการปล่อยสินเชื่อของเอสเอ็มอีแบงก์จะเติบโต 20% จากสิ้นปีนี้ที่ทตั้งเป้าไว้ที่ 10% หรือมียอดสินเชื่อรวมของธนาคารจะอยู่ที่ 1 แสนล้านบาท เนื่องจากความต้องการสินเชื่อที่มีมากขึ้นของผู้ประกอบการที่ต้องการฟื้นฟูหลังได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยคาดว่าความต้องการสินเชื่อในเตรมาสแรกปีหน้าจะสูงขึ้น
ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล ก็จะปรับเพิ่มสูงขึ้นแต่ก็ไม่น่าเป็นห่วงหากธุรกิจกลับมาฟื้นตัวได้ โดยขณะนี้เอ็นพีแอลของเอสเอ็มีแบงก์อยู่ที่ 17,000 ล้านบาท หรือ คิดเป็นร้อยละ 18 จากเดิมอยู่ที่ 40 — 50%
นอกจากนี้ เอสเอ็มีแบงก์อยู่ระหว่างการสำรวจความต้องการของภาคธุรกิจก่อนที่จะออกมาตรการมาช่วยเหลือในปีหน้า เบื้องต้นพบว่าผู้ประกอบการมีความต้องการสภาพคล่องในการฟื้นฟูกิจการ หลังในช่วง 2 — 3 เดือนที่ผ่านมามีการขอสินเชื่อเพื่อไปป้องกันน้ำท่วม