นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ(BBL) กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในงาน Thailand Smart Money ครั้งที่ 2 Smart and Sustainable กลยุทธ์การลงทุนที่ชาญฉลาดและยั่งยืน โดยคาดว่า เศรษฐกิจไทยปี 55 จะขยายตัวได้ราว 4-5% ซึ่งการจะหวังให้เศรษฐกิจโตได้ถึง 6-7% คงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านต่างๆ หลายประการ
โดยมองว่าไตรมาส 1/55 เศรษฐกิจไทยยังมีปัญหาจากภาระในการฟื้นฟูประเทศจากวิกฤติน้ำท่วมครั้งรุนแรงในปี 54 จึงทำให้เศรษฐกิจไตรมาสนี้จะไม่โตนัก ส่วนไตรมาส 2/55 คาดว่าเศรษฐกิจจะเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ โดยขยายตัวได้ราว 3% และครึ่งปีหลังคาดว่าจะขยายตัวได้ดีในอัตราที่เร่งขึ้น
ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในปีหน้า ประกอบด้วย 3 เรื่องหลัก คือ 1.ภาระที่เกิดจากปัญหาน้ำท่วมที่ยังต้องใช้เวลาในการฟื้นฟู โดยมีภาระต้องจัดการจำนวนมาก 2.สภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจโลก และ 3.การดำเนินนโยบายการเงินการคลัง
โดยปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาน้ำท่วมนั้น เป็นภาระที่เกิดความจำเป็นในการบริหารจัดการ เพราะได้สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและการลงทุน ซึ่งคาดว่าอย่างน้อยในครึ่งปีแรกต้องใช้เวลาในการฟื้นฟู และผลกระทบที่เกิดขึ้นคงไม่สิ้นสุดภายในปีหน้า
นายโฆสิต กล่าวว่า ภาระจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากน้ำท่วมจะต้องมีจัดหางบประมาณมาใช้สำหรับการฟื้นฟูเยียวยา ซึ่งมาได้จาก 3 ทาง คือ จากรัฐบาล, จากสินเชื่อ และการทำประกันภัย ซึ่งในการเคลมประกันนั้น คาดว่าภาคธุรกิจจะได้รับเงินสินไหมทดแทนจากการทำประกันได้ประมาณไตรมาส 3-4/55 ซึ่งจะได้เห็นเงินตราต่างประเทศเข้ามาในประเทศจากบริษัทรับประกันภัยต่อในต่างประเทศ
"ในปี 55 เป็นเรื่องที่อธิบายยาก เพราะภาระน้ำท่วมทำให้แต่ละไตรมาสมีจุดสำคัญทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป ในไตรมาส 1 ผลผลิตไม่ดี แต่ยังมีรายจ่ายของประชาชน ซึ่งจะทำให้รายจ่ายที่ไม่เกี่ยวกับน้ำไม่ค่อยดี แต่จะมีรายจ่ายจากรัฐบาลมาทดแทน ส่วนครึ่งปีหลังจะมีการเร่งการผลิต ทำให้ผลผลิตเติบโต ในส่วนของธุรกิจ ภาระต่างๆ จะได้รับการชดเชยจากการประกัน ก็จะมีเงินไหลเข้ามาก" นายโฆสิต ระบุ
สำหรับความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกขณะนี้ ยังไม่มีข้อมูลใดๆ ที่ระบุว่าเศรษฐกิจของประเทศสำคัญในโลกจะสูงขึ้นในปีหน้า และที่น่าเป็นห่วงคือ เศรษฐกิจยุโรป โดยที่จีนเป็นตัวกลางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก แต่จีนอาศัยตลาดส่งออกยุโรปสูงสุด ดังนั้นอาจจะมีผลกระทบต่อการส่งออกของจีนและกระทบต่อเนื่องไปถึงการค้าโลกที่จะชะลอตัวลง เพราะจีนถือเป็นตลาดส่งออกสำคัญของหลายประเทศรวมทั้งไทยด้วย
นอกจากนี้ มีโอกาสที่เงินเฟ้อโลกจะปรับตัวสูงขึ้นหลังจากราคาสินค้าในจีนเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ทำให้สินค้าจากประเทศอื่นต้องทยอยปรับราคาขึ้นเช่นกัน ขณะที่บางประเทศอาจต้องกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการพิมพ์พันธบัตรเพิ่ม ซึ่งจะเอื้อต่อการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อด้วย
ส่วนความเสี่ยงด้านการดำเนินนโยบายการเงินการคลังนั้น นายโฆสิต ยอมรับว่าในปีหน้าไทยต้องใช้นโยบายการเงินการคลังค่อนข้างมาก แต่เสนอแนะให้ดำเนินนโยบายอย่างรอบคอบโดยเฉพาะการดำเนินนโยบายการคลังที่ต้องไม่มีการคอรัปชั่น มีการบริหารจัดการที่ดี ต้องดำเนินนโยบายด้วยความเข้าใจและให้เกิดผล มิฉะนั้นจะถือเป็นการทำลายภูมิคุ้มกันตัวเอง เพราะมีบทพิสูจน์ให้เห็นจากหลายประเทศที่ดำเนินนโยบายการเงินการคลังไม่ได้ผล และหวั่นจะเกิดปัญหาเหมือนกรีซ หรือเกิดวิกฤติซ้ำรอยเหมือนปี 40 ดังนั้นการดำเนินนโยบายการเงินการคลังจะทำให้เกิดผลต้องมีความสามารถในการแข่งขัน โดยขึ้นอยู่กับภาคเอกชนและมีความร่วมมือกันกับภาครัฐ