ธปท. ชี้แนวทางปล่อยกู้ซอฟท์โลนควรกำหนดกลุ่มเป้าหมาย-วงเงินให้ชัดเจน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 19, 2011 12:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หากรัฐบาลจะให้ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ(soft loan) ต้องแก้ไขพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย ปี 2551 แต่หากจะให้มีผลบังคับใช้เร็วก็ต้องออกเป็นพระราชกำหนด ที่สำคัญต้องระบุให้ชัดเจนว่าจะดำเนินการเป็นกรณีพิเศษ เจาะจงว่าจะให้สินเชื่อแก่กลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมเท่านั้น เช่น กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และประชาชนรายย่อย ไม่ควรช่วยธุรกิจขนาดใหญ่ เพราะมีสภาพคล่องสูงแล้ว

นอกจากนี้ ถ้าจะให้ธปท.เป็นฝ่ายปล่อยสินเชื่อผ่านธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ต้องอธิบายให้ตลาดการเงินเข้าใจว่าจะมีภาระที่เกิดจากส่วนต่างดอกเบี้ยมากแค่ไหน เพื่อสร้างความโปร่งใส และไม่ทำให้ตลาดเงินเกิดความกังวล เช่น หากให้สินเชื่อวงเงิน 100,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 3% จะมีภาระส่วนต่างดอกเบี้ย 3,000 ล้านบาท ดังนั้น วงเงินสินเชื่อควรกำหนดตามความจำเป็น เพราะถ้ามีมากเกินไปจะทำให้เป็นภาระของธปท.ในการดูดซับสภาพคล่อง

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า การออกซอฟท์โลน อาจทำให้มีการขอสินเชื่อลักษณะนี้อีกในอนาคต จึงต้องระมัดระวังมาก และพยายามควบคุมวงเงินให้อยู่ในวงจำกัด เพราะอาจกระทบต่อความน่าเชื่อถือของธนาคารกลาง

ด้านนายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า รัฐบาลควรระบุให้ชัดเจนว่าต้องการปล่อยซอฟท์โลนให้กับกลุ่มใด เพราะคงไม่สามารถปล่อยสินเชื่อให้กับทุกกลุ่มได้ และอาจทำให้กลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบได้ประโยชน์ด้วย

ขณะที่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ไม่ได้นิ่งนอนใจในการพิจารณาผ่อนคลายนโยบายการเงินหรือลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อช่วยเหลือเอกชนที่ประสบอุทกภัย แต่อัตราดอกเบี้ยนโยบายต้องดูแลภาพรวมของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ ไม่ใช้ดอกเบี้ยนโยบายมาดูแลเฉพาะกลุ่ม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ