กฟผ.เตรียมลงทุนกว่า 1 หมื่นลบ.สร้างโรงไฟฟ้าใหม่ 600 MW ทดแทนของเดิม

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 19, 2011 15:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เตรียมโละโรงไฟฟ้าแม่เมาะ 4-7 เล็งสร้างโรงใหม่ขนาด 600 เมกะวัตต์(MW)ทดแทน มั่นใจเข้าระบบก่อนปี 63 คาดใช้เงินลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท ด้านผู้ว่าการ กฟผ.ยันโรงไฟฟ้าแม่เมาะสะอาด ไร้มลพิษลิกไนต์

นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.มีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ 1 โรง เพื่อเข้ามาทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ 4-7 ขนาดกำลังการผลิตรวม 600 เมกะวัตต์ ซึ่งใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการผลิตมากขึ้น

ปัจจุบันโรงไฟฟ้าใหม่ดังกล่าวยังไม่ถูกบรรจุเข้าในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า(พีดีพี 2010) แต่เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหา เนื่องจากเป็นการก่อสร้างเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเก่าเท่านั้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน หากเป็นไปตามแผนคาดว่าน่าจะสามาถเข้าระบบได้ก่อนปี 63

"ที่ผ่านมาโรงไฟฟ้าแม่เมาะก็เล็งเห็นความสำคัญของชุมชนตลอด กฟผ.ใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมและพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตเพื่อลดมลพิษอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้จากงานเทศกาลท่องเที่ยวแม่เมาะครั้งที่ 9 ที่จะขึ้นระหว่างวันที่ 17-18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ก็ได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี ยืนยันได้ว่าเหมืองแม่เมาะเป็นที่ยอมรับ และปัจจุบันโรงไฟฟ้าแม่เมาะมีคุณภาพอากาศที่ดีกว่ามาตรฐาน พร้อมให้คนไทยทุกคนมาพิสูจน์ด้วยตนเอง" นายสุทัศน์ กล่าว

ด้านนายธนากร พูลทวี รองผู้ว่าการเชิ้อเพลิง กฟผ.กล่าวว่า กฟผ.มีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าแม่เมาะใหม่ ขนาดกำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ ทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะโรงที่ 4-7 ขนาดกำลังการผลิตโรงละ 150 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้าใหม่ดังกล่าวคาดว่าจะใช้เงินลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าจะโรงไฟฟ้าใหม่ดังกล่าวจะเข้าระบบเมื่อไร แต่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน รวมทั้งการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสุขภาพ(EHIA) หากเป็นไปตามแผนคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ 4-5 ปี และน่าจะเข้าระบบได้ภายในปี 62

"เรามีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมที่จะหมดอายุ โดยจะสร้างโรงเดียวแต่ขนาดเทียบเท่ากับ 4 โรงเดิม โดยเตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนภายในวันที่ 8 มกราฯปีหน้า หากเป็นไปตามแผนคงจะสามารถเข้าระบบได้ภายในปี 62" นายธนากร กล่าว

ส่วนสถานการณ์ถ่านหินในเหมืองแม่เมาะขณะนี้ พบว่า มีปริมาณสำรองถ่านหินประมาณ 500 ล้านตัน หรือใช้ได้อีกประมาณ 30 ปี โดยในส่วนของโรงไฟฟ้าแม่เมาะมีความต้องการใช้ถ่านหินประมาณ 16 ล้านตันต่อปี

สำหรับปัญหาด้านมลพิษของเหมืองถ่านหินแม่เมาะซึ่งเป็นเหมืองเปิด นายธนากร กล่าวว่า กฟผ.มีระบบการจัดการที่ดีสามารถลดระดับมลพิษได้ดีกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งชุมชนอาจกังวลเรื่องฝุ่น กฟผ.ก็แก้ไขด้วยการสเปรย์น้ำบนถนนเพื่อทำให้ดินชื่น ส่วนกรณีที่กังวลเกี่ยวกับถ่านหินที่มักติดไฟขึ้นเองนั้น กฟผ.ก็มีหน่วยงานที่เข้ามาควบคุมดูแลตลอดเวลา นอกจากนี้โรงไฟฟ้าดังกล่าวยังติดตั้งเครื่องจำกัดซัลเฟอร์ตั้งแต่ปี 44 ที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ