รมช.พณ.เดินหน้าปรับปรุงกม.ลิขสิทธิ์-ผลักดันไทยหลุดบัญชี PWL ของสหรัฐฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 20, 2011 16:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า จะเร่งผลักดันการพัฒนากฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยเฉพาะการแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ เพื่อการคุ้มครองงานบนเครือข่ายดิจิทัลและอินเตอร์เน็ต ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมทั้งการแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ เพื่อป้องกันและปราบปรามการแอบถ่ายในโรงภาพยนตร์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้สร้างภาพยนตร์ไทย และโรงภาพยนตร์ โดยขณะนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ยกร่างเสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนจนถึงวันที่ 30 ธ.ค.54 เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในเดือนม.ค.55

นอกจากนี้ จะจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติขึ้นภายในกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อเป็นศูนย์กลางข้อมูลและการประสานงานด้านการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจะขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ และกรมศุลกากร ส่งเจ้าหน้าที่มาประจำศูนย์ เพื่อประโยชน์ในการประสานข้อมูลการปราบปราบ ซึ่งคาดว่าจะสามารถจัดตั้งได้ในเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ ได้มอบนโยบายให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาเดินหน้าพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของไทย โดยลำดับแรกได้ให้ความสำคัญกับการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น การห้ามแอบถ่ายในโรงภาพยนตร์, กฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์เพื่อคุ้มครองงานบนเครือข่ายดิจิทัล และอินเตอร์เน็ต และการตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาไทย สร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดีของระบบทรัพย์สินทางปัญญาในไทยในสายตานักลงทุน

รมช.พาณิชย์ คาดว่า การดำเนินการดังกล่าวจะช่วยปลดล็อคปัญหาที่ผู้ประกอบการและนักลงทุนสหรัฐฯ เรียกร้อง และเป็นผลดีในการทบทวนสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ และการพิจารณาถอดประเทศไทยออกจากบัญชีกลุ่มประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ(PWL) รวมทั้งจะไม่สามารถอ้างเรื่องทรัพย์สินทางปัญญามาเป็นเงื่อนไขที่จะไม่ต่ออายุการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(GSP) แก่ไทยได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ