In Focusเลาะรั้วเศรษฐกิจโลกปี 54 ..ปีแห่งฝันร้ายที่ชาติมหาอำนาจไม่อยากจดจำ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday December 21, 2011 14:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อาจกล่าวได้ว่า ปีพ.ศ. 2554 เป็นปีที่โลกของเราเข้าสู่ โหมด “วิกฤตหนี้สาธารณะ" และ “ภัยพิบัติ" อย่างเต็มตัว ทำให้คนจำนวนมากเริ่มไม่มั่นใจว่าปีหน้าจะเจอเข้ากับอะไรบ้าง อาการกระอักกระอ่วนนี้ส่งผลให้คนมากมายหมดอารมณ์เฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ในอีก 10 วันข้างหน้า กูรูหลายคนมองว่าปี 2554 เป็นปี “กระต่ายดุ" แต่ปี 2555 จะเป็นปี “มังกรโหด" ที่ดุร้ายกว่า สถาบันวิจัยหลายแห่งจึงเปิดไซเรนส่งสัญญาณให้ประเทศทั่วโลกเตรียมตั้งการ์ดและปรับโหมดเข้าสู่การ “รับมือกับวิกฤตการณ์เลวร้ายสุด" ในปีหน้า สาเหตุหลักๆ ก็มาจากปัญหาหนี้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด และผลพวงของภัยพิบัติที่รอการฉุดลากเศรษฐกิจให้ดิ่งลงเหวอย่างไม่เกรงอกเกรงใจ

เส้นทางอันขรุขระในปี 2554 ทำให้เราได้ยินวลีที่ฟังแล้วชวนหดหู่ ไม่ว่าจะเป็น “รัดเข็มขัด ... ผิดนัดชำระหนี้ ... หั่นเครดิต หรือขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน ฯลฯ" และในขณะเดียวกันเราก็ได้เห็นพระเอกในยามยากอย่างกองทุนการเงินระหว่งประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กลับมาผงาดบนเวทีโลกอีกครั้ง กับปฏิบัติการ Mission Impossible ที่เอาแต่วิ่งกู้วิกฤตให้กับมหาประเทศชั้นนำ จนทำให้คนค่อนโลกใจหายใจคว่ำกับข่าวไอเอ็มเอฟขอการอัดฉีดเงินทุนเพิ่มเมื่อไม่นานมานี้

โบราณว่า ความสุขมักอยู่กับเราในช่วงสั้นๆ แต่ทุกข์นั้นช่างแสนนาน จึงทำให้ปี 2554 กลายเป็นปีที่วันเวลาดูเหมือนยาวนานกว่าปีก่อนๆ แต่ก่อนที่ปีกระต่ายดุตัวนี้จะหมดลง คอลัมน์ In Focus ขอพาท่านเดินเลาะรั้วสำรวจดูสถานการณ์เศรษฐกิจรอบโลกว่า พวกเราได้เผชิญอะไรกันมาบ้างตั้งแต่ต้นปี ...

-- เปิดศักราชวันที่ 1 มกราคม 2554 เราได้ยินข่าวการขานรับน้องใหม่อย่าง “เอสโทเนีย" ที่สมัครใจร่วมหอลงโรงเป็นครอบครัวยูโรโซนรายที่ 17 แม้ไม่มีแหล่งทรัพยากรเป็นจุดขายเหมือนใครเขา แต่เอสโทเนียก็มีภาครัฐและภาคประชาชนที่เคร่งครัดในเรื่องวินัยการคลัง จึงทำให้ผู้นำยูโรโซนแห่กันออกมาต้อนรับครอบครัวใหม่สกุลเงินยูโร และยังหนุนตลาดการเงินยุโรปดีดตัวขึ้นต้อนรับปีใหม่ด้วย ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐและเอเชียในช่วงต้นเดือนม.ค. ก็ดีดตัวขานรับผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและบริการทั่วโลกที่ขยายตัวต่อเนื่องจากปลายปี 2553 ... บรรยากาศช่วงปีใหม่ชื่นบานมากขึ้นเมื่อผลสำรวจของบาร์เคลย์เฮดจ์ แอนด์ ทิมแทบส์ อินเวสต์เมนท์ รีเสิร์ชบอกว่า ผู้จัดการเฮดจ์ฟันด์ส่วนใหญ่มีมุมมองเป็นบวกต่อการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกมายืนยันว่าจะเดินหน้าโครงการ QE2 เต็มวงเงิน 6 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อเคาะสนิมให้สภาพคล่องในระบบการเงินไหลลื่นขึ้น

-- จากนั้นช่วงต้นกุมภาพันธ์ ทั้งที่เป็นเดือนแห่งความรัก แต่จีน กลับสร้างเซอร์ไพรส์ให้ทั่วโลกประจักษ์อีกครั้ง ด้วยการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ด้วยเหตุผลที่ว่าเศรษฐกิจแดนมังกรโตเอาๆ จนก่อปัญหาเงินเฟ้อ สร้างความกลัดกลุ้มใจให้หัวเรือใหญ่ของแบงก์ชาติจีนอย่างคุณโจว เสี่ยวฉวน เป็นอย่างมาก การประกาศขึ้นดอกเบี้ยของจีนถือเป็นปฏิบัติการที่ตรงข้ามกับคู่ปรับตลอดกาลอย่างสหรัฐที่ตอกตะปูดอกเบี้ยแทบจะติดศูนย์ และยังสร้างความหวั่นไหวให้กับตลาดการเงินทั่วโลกว่ามหาอำนาจเศรษฐกิจเอเชียอย่างจีน คงถึงคราวคุมบังเหียนไม่อยู่

-- กระทั่งเย็นวันที่ 11 มีนาคม ทั่วโลกต้องใจหายไปกับชะตากรรมที่เหนือความคาดหมายของญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ของเอเชีย เมื่อแผ่นดินวิปโยค 9 ริกเตอร์และคลื่นสึนามิได้สร้างหายนะอย่างใหญ่หลวงต่อทั้งระบบเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเองและเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ แต่ที่กระอักสุดคืออุตสาหกรรมรถยนต์สหรัฐที่แบกรับผลกระทบครั้งนี้ไปเต็มๆ เพราะสหรัฐเป็นผู้นำเข้าชิ้นส่วนประกอบรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลกด้วยยอดนำเข้าที่กว่า 4.3 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งในจำนวนนี้มียอดนำเข้าชิ้นส่วนประกอบรถยนต์จากญี่ปุ่นมูลค่า 7.6 พันล้านดอลลาร์ ทำให้ในเวลานั้น สหรัฐกลายเป็นประเทศที่ตกอยู่ในความเสี่ยงมากที่สุด ญี่ปุ่นถูกซ้ำเติมด้วยบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ออกมาลดแนวโน้มเครดิตบริษัทประกันภัยญี่ปุ่นแบบสะบั้นหั่นแหลก เพราะหวั่นใจว่าค่าใช้จ่ายในการชดเชยผู้ทำประกันของบริษัทประกันภัยญี่ปุ่นอาจจะสูงกว่าระดับเมื่อครั้งที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เมืองโกเบของญี่ปุ่นในปี 2538 ไม่เพียงเท่านั้น ญี่ปุ่นยังปวดหัวกับวิกฤตนิวเคลียร์ ที่เกิดจากการรั่วไหลของกัมมันรังสี เหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำเอาทุกประเทศหวาดระแวงกับสินค้าญี่ปุ่น อีกทั้งยังฉุดรั้งอุตสาหกรรมส่งออกอาหารของญี่ปุ่นตกต่ำจนถึงขีดสุด และน่าเห็นใจที่สุดในเวลาเดียวกัน

-- เดือนเมษายน ร้อนนี้ระอุกว่าเดิม เมื่อธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เป็น 1.25% ในวันที่ 7 ของเดือน ด้วยเหตุผลเดียวกับจีนคือสกัดเงินเฟ้อ แต่ผลพวงของการตัดสินใจครั้งนี้ ตีวงกว้างมากกว่าที่คิด เพราะได้ฉุดตลาดหุ้นทั้งในสหรัฐ ยุโรป และเอเชีย ร่วงลงระเนระนาด การประกาศขึ้นดอกเบี้ยของอีซีบีสะท้อนถึงความผิดปกติของยุโรปอย่างชัดเจน เพราะในขณะที่เศรษฐกิจชะลอตัวจากผลพวงของวิกฤตหนี้นั้น ยุโรปกับถูกหอกข้างแคร่อย่างปัญหาเงินเฟ้อบุกเข้าตีขนาบจนแทบกระดิกไม่ได้

-- ตามด้วยเดือนพฤษภาคม เดือนแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในด้านความมั่นคงของโลกที่มีผลอย่างมากต่อความมั่นคงของเศรษฐกิจด้วย เมื่อประธานาธิบดีบารัค โอบามา แถลงว่ากองกำลังทหารสหรัฐได้บุกไปปลิดชีพ “โอซามา บิน ลาเดน" แกนนำกลุ่มก่อการร้ายอัล-กออิดะห์ ถึงแหล่งกบดานในปากีสถาน ในช่วงแรก ตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นไทย พุ่งขึ้นขานรับข่าวการตายของบิน ลาเดน แต่ในวันต่อมาตลาดก็เริ่มผันผวน เพราะนักลงทุนเริ่มไม่มั่นใจว่าลูกสมุนที่แฝงตัวอยู่ทั่วโลกของจ่าฝูงอัล-กออิดะห์รายนี้ จะกลับมาเอาคืนสหรัฐเมื่อใด จุบจบของบิน ลาเดนกลายเป็นข่าวร้อนที่ชิงพื้นที่สื่อทุกสำนักทั่วโลก จนทำให้เราได้เห็นอาการตื่นเต้นของผู้ประกาศข่าวต่างประเทศหลายคนที่พูดสลัดกันระหว่าง “โอบามา และ โอซามา"

-- เดือนมิถุนายน เป็นเดือนที่ทั่วโลกจับตาดูวิกฤตหนี้ยุโรปอย่างใกล้ชิดมากที่สุด เมื่อกระแสความวิตกกังวลในเรื่องดังกล่าวทำให้นักลงทุนทุบขายหุ้นติดต่อกันหลายวัน เมื่อกรีซต้องเอ่ยปากขอกู้เงินจากไอเอ็มเอและอียูอีก 1 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นวงเงินสูงสุดเท่าที่ประเทศอื่นๆได้รับมา เนื่องจากหนี้สาธารณะสูงมาก วิกฤตหนี้ยุโรปปีนี้น่าสะพึงกลัวกว่าปีไหน เพราะหนี้ได้ลุกลามไปทั่วยูโรโซนแล้ว และที่ทำให้ตลาดการเงินตื่นตระหนกมากขึ้นเมื่อนิตยสารแดร์ สปีเกิลของเยอรมนีปล่อยข่าวว่ากรีซจะออกจากยูโรโซนและจะกลับไปใช้สกุลเงินดราชมา เพราะละอายใจที่ปัญหาหนี้ของตัวเองได้ฉุดประเทศอื่นเข้าไปติดบ่วงหนี้ด้วย แต่ท้ายที่สุดผู้นำยุโรปก็ออกมาปกป้องกรีซ เพราะตระหนักว่าการแยกตัวออกจากยูโรโซนก็เท่ากับออกไปตายเดี่ยว

-- พอมาถึงเดือนกรกฎาคม ก็ถึงคราวที่ประเทศไทยของเราได้โกอินเตอร์บนหน้าหนึ่งของสื่อต่างชาติบ้าง เมื่อน.ส.ยิ่งลักษ์ ชินวัตร ได้รับเลือกตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย สิ่งที่ต่างชาติเขาให้ความสนใจบ้านเราเป็นพิเศษก็คือว่า นโยบายประชานิยม หรือ populism policies ของพรรคเพื่อไทยจะทำให้การคลังของไทยสะดุดลงในวันใด แต่ที่ทำเอาคนไทยอย่างเราๆใจเต้นก็เมื่อสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) เตือนว่า มีความเสี่ยงที่สถานะการคลังของรัฐบาลไทยจะเผชิญกับภาวะขาลง ถ้ารัฐบาลชุดใหม่ดำเนินนโยบายมากมายตามที่ได้ประกาศเอาไว้ในช่วงเลือกตั้ง ซึ่งรวมถึงการรับจำนำข้าวแทนการรับประกันราคา ซึ่งนโยบายเหล่านี้จะส่งผลให้การใช้จ่ายด้านการคลังของรัฐบาลเพิ่มขึ้นอย่างมากในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และกล้ามเนื้อหัวใจยิ่งเต้นแรงขึ้นเมื่อซีเอ็นเอ็นเตือนว่า นโยบายประชานิยมของพรรคเพื่อไทยอาจต้องใช้เงินมากถึง 7.5 ล้านล้านบาท สูงกว่างบประมาณของประเทศถึง 5 เท่า ซึ่งหมายความว่าถ้ารัฐบาลดำเนินนโยบายประชานิยมเหล่านี้จริง ไทยอาจจะตกอยู่ในภาวะการคลังหดตัวภายในระยะเวลาอันสั้น

-- เดือนสิงหาคม ถือเป็นเดือนที่ตลาดการเงินทั่วโลกถูกเขย่ารุนแรงที่สุดก็ว่าได้ เมื่อ S&P ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐลงเหลือ AA+ จากระดับสูงสุดที่ AAA ซึ่งถือเป็นการถูกลดอันดับเครดิตครั้งแรกในประวัติศาสตร์สหรัฐ และยังฉุดดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงไปกว่า 600 จุด ทั้งยังลากเอาตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงลงกันถ้วนหน้า การที่พี่ใหญ่แห่งโลกตะวันตกถูกหั่นเครดิตจากสถาบันจัดอันดับชาติเดียวกันถือเป็นข่าวใหญ่โตที่สร้างความกังขาเป็นอย่างมาก แต่ที่เรื่องที่ทำให้สหรัฐถูกประชาคมโลกครหามากที่สุดก็คือว่า เบื้องหลังการลดอันดับครั้งนี้มีการเมืองแอบแฝง เพราะข้อมูลเบื้องลึกพบว่า นายเดวิด เบียร์ส หัวเรือใหญ่ของเอสแอนด์พีเป็นผู้สนับสนุนรีพับลิกันและได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่กุมชะตาอันดับเครดิตของสหรัฐเอาไว้ในมือ มิหนำซ้ำนายเบียร์สยังได้รับเกียรติให้เข้าร่วมประชุมกับผู้นำระดับสูงของรีพับลิกันหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา ท่าทีของนายเบียร์สทำให้หลายฝ่ายไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่ง จนต้องออกมาเตือนว่า สถาบันจัดอันดับเครดิตควรจะ “รักษาระยะห่าง" กับนักการเมืองให้มากที่สุด เพราะไม่เช่นนั้นสถาบันจัดอันดับกลายเป็น “ผู้เล่น" ด้วยอีกคน และทำให้เป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับเกมนี้ในที่สุด

-- เดือนกันยายน เดือนที่ตลาดการเงินเริ่มกลับจับตาดูความเคลื่อนไหวของผู้นำยุโรปอีกครั้ง เมื่อผู้นำสหภาพยุโรป (อียู) จัดประชุมเฉพาะกิจเพื่อหารือกันว่าจะเพิ่มขนาดกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (EFSF) หรือไม่ แล้วในที่สุดวันที่ 29 กันยายน รัฐสภาเยอรมนีก็ลงมติอนุติการเพิ่มขนาดกองทุน EFSF เพื่อเพิ่มอำนาจในการให้ความช่วยเหลือประเทศยูโรโซนที่ประสบปัญหาทางการเงิน ข่าวดังกล่าวหนุนตลาดหุ้นทั่วโลกทะยานขึ้นแบบรั้งไม่อยู่ นั่นเพราะกองทุน EFSF ถูกคาดหวังว่าจะเป็น “ผู้กำหนดชะตา" เศรษฐกิจยุโรปในอนาคต และจะเป็นหมากตัวหนึ่งที่จะสามารถพลิกวิกฤตบนกระดานหนี้ยูโรโซนได้

-- เดือนตุลาคม เดือนแห่งมหาอุทกภัยที่คุกคามเศรษฐกิจไทยรุนแรงที่สุดในรอบครึ่งทศวรรษ ข่าวภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกับบ้านเมืองเราในครั้งนี้ ปรากฏหราบนหน้าหนึ่งของสื่อต่างประเทศติดต่อกันนานนับเดือน เพราะถือเป็นภัยพิบัติที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างมากกว่าและรุนแรงยิ่งกว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิที่เกิดขึ้นกับญี่ปุ่นเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา อุทกภัยครั้งนี้ไม่เพียงแต่จะสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของไทย แต่ยังลากเอาเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ของไทยเราให้ถอยหลังลงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ที่เจ็บหนักสุดก็เห็นจะเป็นญี่ปุ่น เพราะมีฐานการผลิตอยู่ในไทยเป็นจำนวนมาก หากนับเฉพาะบริษัทที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 7 แห่งของไทยก็พบว่า บริษัทญี่ปุ่นที่ได้รับความเสียหายมีอยู่มากกว่า 450 แห่ง มีทั้งบริษัทยานยนต์ อิเล็กทรอนิก ผลิตเครื่องกล ผลิตอะไหล่ สิ่งทอ ขณะที่ธนาคารโลกมองว่ามูลค่าความเสียหายมีมากถึง 1.356 ล้านล้านบาท พร้อมกับปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้และปีหน้าลงมาอยู่ที่ 2.4% และ 4.0% ตามลำดับ เนื่องจากผลกระทบของมหาอุทกภัยกินวงกว้างมากกว่าที่คิด

-- เดือนพฤศจิกายน เป็นเดือนที่ชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจรายใหญ่อันดับ 3 ของยุโรปอย่างอิตาลี ถูกรุมกระหน่ำรอบด้าน ทั้งการถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือจาก 3 สถาบันยักษ์ใญ่อย่างเอสแอนด์พี, มูดีส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส และฟิทช์ เรทติงส์ รวมทั้งต้นทุนการกู้ยืมที่พุ่งขึ้นอย่างรุนแรง สถานการณ์ดังกล่าวบีบคั้นจนนายกรัฐมนตรีซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี ตัดสินใจอำลาตำแหน่ง หลังจากที่ข่าวการปฏิเสธการลาออกจากตำแหน่งของเขาทำให้ตลาดหุ้นยุโรปร่วงลงอย่างหนัก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในตัวแบร์ลุสโคนีจนถึงขีดสุด และอยากเห็นอิตาลียุคใหม่ภายใต้การนำของคนที่มีฝีมือมากกว่า กระทั่งเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ตลาดการเงินทั่วยุโรปทะยานขึ้นขานรับข่าวประกาศแต่งตั้งนายมาริโอ มอนติ อดีตคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ แต่สองบ่าของนายมอนติต้องแบกรับภาระอันหนักอึ้ง กับภารกิจกอบกู้ความเชื่อมั่นของนักลงทุน และลดปัญหาหนี้สินของประเทศที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก

-- กระทั่งถึงเดือนธันวาคม เดือนที่เปรียนเสมือนการตกตะกอนของแทบจะทุกเหตุการณ์ เปิดฉากต้นเดือนด้วยข่าวจีนและยุโรปประกาศยอมรับว่า ทั้งภาคการผลิตและภาคบริการหดตัวลงอย่างหนัก ซึ่งถือเป็นข่าวที่ฉุดตลาดหุ้นในเอเชีย สหรัฐ และยุโรป ซบเซาลงอย่างมาก กระทั่งในช่วงเช้าของวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา ตลาดหุ้นทั่วภูมิภาคเอเชียร่วงลงกราวรูด เมื่อสำนักข่าวกลางของเกาหลีเหนือยืนยันว่า นายคิม จอง อิล ผู้นำเกาหลีเหนือได้ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว ด้วยวัย 69 ปี แต่ถัดมาอีกวันหนึ่งตลาดก็เริ่มรีบาวด์ เมื่อนักลงทุนพบว่าการอสัญกรรมของผู้นำเกาหลีเหนือไม่ได้จุดชนวนให้เกิดความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีแต่อย่างใด และล่าสุดในวันนี้ (21 ธ.ค.) นักลงทุนก็เริ่มหันมาจับตาสถานการณ์เศรษฐกิจของญี่ปุ่นอีกครั้ง หลังจากยอดส่งออกเดือนพ.ย.หดตัวลง 4.5% เนื่องมาจากผลกระทบของเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในประเทศไทย และสดๆร้อนๆในช่วงบ่ายวันนี้ก็คือ เรทติ้ง แอนด์ อินเวสเมนต์ อินฟอร์เมชั่น อิงค์ (R&I) ซึ่งเป็นสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือของญี่ปุ่น ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของญี่ปุ่นลงสู่ AA+ จาก AAA เนื่องจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจภายในประเทศ

แม้เดือนธันวาคมยังไม่สิ้นสุดลง แต่กงล้อเศรษฐกิจโลกก็ยังคงหมุนเวียนไม่มีวันหยุด และไม่ว่าใครจะฟันธงกันไปก่อนล่วงหน้าแล้วว่าปีหน้าจะเป็นปีมังกรโหด หรือมังกรดุ แต่ก็เป็นเพียงการการคาดคะเนในเชิงข้อมูลเท่า และไม่ว่าปีหน้าฟ้าใหม่จะเป็นเช่นไร คอลัมน์ In Focus ก็ขอให้ผู้อ่านทุกคนโชคดีมีชัย รับพรปีใหม่กันกระเป๋าตุง ...และขอจบภารกิจการย้อนรอยเศรษฐกิจโลกด้วยวลีสั้นๆว่า "ฟ้าหลังฝน ย่อมสดใสชื่นบานเสมอ"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ