อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เตรียมนัดประชุมใหญ่นักลงทุนไทย-ต่างชาติที่มีโรงงานในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย 2 พันรายปลายเดือน ม.ค.นี้ หวังใช้เป็นเวทีให้ กยอ.-กยน-ไจก้า ชี้แจงแผนบริหารจัดการน้ำของประเทศ เพื่อฟื้นความเชื่อมั่น ส่วนส่งออกปีหน้าเชื่อโตตามเป้า 15% ไม่สนปัจจัยเสี่ยงเหตุวางกลยุทธ์ผลักดันแล้ว
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยว่า ประมาณปลายเดือน ม.ค.55 กรมฯ จะเชิญคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารทรัพยากรน้ำ(กยน.), คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ(กยอ.) และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น(ไจก้า) มาชี้แจงทำความเข้าใจ และสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนประมาณ 2,000 ราย ที่จะเชิญเข้าร่วมงาน โดยเน้นนักลงทุนที่มีโรงงานอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมซึ่งถูกน้ำท่วม เพื่อให้ทราบถึงแนวทางการบริหารจัดการน้ำของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และแนวทางการป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมใหญ่จนสร้างความเสียหายต่อภาคอุตสาหกรรมอีก
นอกจากนี้ กรมฯ ยังจะจัดคณะผู้แทนการค้าต่างๆ เดินทางไปโรดโชว์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าในต่างประเทศด้วยว่า ผู้ผลิตและผู้ส่งออกของไทยที่ถูกน้ำท่วมจะสามารถกลับมาเดินเครื่องผลิตสินค้าได้เหมือนเดิมในเร็วๆ นี้ เพื่อให้ลูกค้าเหล่านั้นหันกลับมาสั่งซื้อสินค้าจากไทยเหมือนเดิม หลังจากช่วงน้ำท่วมได้หันไปสั่งซื้อจากประเทศอื่นแทน
นางนันทวัลย์ กล่าวถึงแนวโน้มการส่งออกสินค้าไทยในปี 55 ว่า ไตรมาสแรกมูลค่าจะลดลงมากต่อเนื่องจากไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เพราะโรงงานหลายแห่งอยู่ระหว่างการฟื้นฟู คาดจะกลับมาผลิตได้เหมือนเดิมในไตรมาสแรก แต่ยังมีอีกหลายอุตสาหกรรมใช้เวลาในการฟื้นฟูนานถึง 4-6 เดือน ซึ่งคาดว่า มูลค่าการส่งออกในไตรมาส 2 ของปีหน้ายังขยายตัวต่ำต่อเนื่อง แต่น่าจะโตกว่าไตรมาสแรก ส่วนไตรมาส 3 และ 4 จะกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้น และน่าจะขยายตัวได้ตามเป้าหมาย 15% แน่นอน
ทั้งนี้ กรมฯ ได้กำหนดกลยุทธ์ที่จะใช้ส่งเสริมการส่งออกในปีหน้าเพื่อให้ขยายตัวได้ตามเป้าหมาย เช่น การพัฒนาและส่งเสริมสินค้าและธุรกิจบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การพัฒนาช่องทางการตลาดใหม่ๆ และสร้างเครือข่ายพันธมิตรกับประเทศคู่ค้า การรักษาตลาดหลัก ขยายตลาดใหม่ และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ) และการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) แม้จะมีปัจจัยเสี่ยง เช่น ผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมที่ยังไม่จบ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง อัตราแลกเปลี่ยนที่ยังมีความผันผวน เป็นต้น