(เพิ่มเติม) "กิตติรัตน์"เผยไทยพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ-มีสภาพคล่องพอในการระดมทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 21, 2011 16:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รัฐบาลมั่นใจรับมือสถานการณ์น้ำในปีหน้าได้โดยไม่เกิดผลกระทบวงกว้างและรุนแรงดังเช่นในปีนี้ และจะสามารถดำเนินการให้เสร็จทันก่อนเดือนพฤษภาคม 55 ขณะที่ภาคเอกชนระบุ ภาครัฐควรมีความชัดเจนเกี่ยวกับแผนในการแก้ไขและป้องกันระบบน้ำท่วมภายในไตรมาสแรก ปี 55 เพื่อให้ภาคธุรกิจได้เกิดความเชื่อมั่นและสามารถวางแผนบริหารการลงทุนให้สอดคล้องกัน

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ“แนวทางฟื้นเศรษฐกิจ ฟื้นความเชื่อมั่น หลังภัยพิบัติน้ำท่วม"ว่า ประเทศไทยจะสามารถรับมือกับสถานการณ์น้ำในปีหน้าได้โดยไม่ให้เกิดผลกระทบในวงกว้างและรุนแรงดังเช่นในปีนี้ และจะสามารถดำเนินการให้เสร็จทันก่อนเดือนพฤษภาคม 2555 ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝน เนื่องจากขณะนี้ร่างแผนแม่บทพัฒนาลุ่มน้ำเจ้าพระยาอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการร่างแผนและพร้อมจะดำเนินการได้ทันที เมื่อได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล

"ร่างแผนแม่บทพัฒนาลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นร่างขั้นสุดท้ายและพร้อมดำเนินการ เหลือแค่หารือในระดับสำคัญอีกเล็กน้อย เมื่อไฟเขียวก็ทำได้ทันที...มั่นใจว่าต่อให้มีฝนมากเท่าเดิมก็จะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายเหมือนปีนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าน้ำจะไม่ท่วม แต่ถ้าท่วมก็จะท่วมในพื้นที่ที่มีความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินน้อยที่สุด"นายกิตติรัตน์ กล่าวในงานสัมมนา"ซ่อม-สร้าง วาระบูรณะประเทศไทย หลังมหาอุทกภัย 54"

รองนายกฯ กล่าวถึงเม็ดเงินที่จะนำมาใช้ในแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตว่า อาจไม่จำเป็นต้องกู้เงินจากต่างประเทศเนื่องจากขณะนี้ในประเทศยังมีสภาพคล่องมากเพียงพอ ประกอบกับหนี้สาธารณะต่อจีดีพียังอยู่ในระดับที่ไม่สูง

"อาจไม่จำเป็นต้องระดมทุนหรือกู้เงินจากต่างประเทศ เพราะในประเทศมีสภาพคล่องมากพอ แต่ถ้าจะกู้ต่างประเทศเราก็มีนานาชาติที่พร้อมสนับสนุนและให้กู้ เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่ใช่เวลารีบตัดสินใจ ยืนยันว่าเราทำได้โดยไม่กระทบวินัยการคลัง"นายกิตติรัตน์ กล่าว

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวในหัวข้อเสวนา "บูรณาการประเทศไทย ก้าวพ้นภัยพิบัติ" โดยมองว่าในการฟื้นฟูประเทศภายหลังจากประสบกับอุทกภัยอย่างรุนแรงในปีนี้ จะต้องมีการดำเนินมาตรการอย่างเป็นระบบทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

โดยมาตรการระยะสั้น ต้องเริ่มจากการสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นแก่ทุกภาคส่วน การทยอยวางแผนบริหารจัดการในการเก็บขยะตลอดจนสิ่งที่เป็นมลพิษต่างๆ จากนั้นเป็นการเร่งรัดมาตรการเยียวยาทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่ประสบภัยน้ำท่วม โดยให้ความช่วยเหลืออย่างทั่วถึงในทุกหมู่บ้านและชุมชน มีการดูแลการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำในบริเวณที่น้ำท่วมขัง และระบายน้ำออกสู่ทะเล มีการขุดลอกคูคลองอย่างสม่ำเสมอ และสุดท้ายเป็นการเร่งสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน

ส่วนมาตรการระยะกลาง ควรมีการปรับปรุงเส้นทางการระบายน้ำให้สามารถรองรับน้ำที่ไหลมาเป็นจำนวนมากให้สามารถไหลลงสู่ทะเลได้อย่างรวดเร็ว มีการขุดคลองสาขาเพิ่มเติม เพื่อระบายน้ำจากสายหลักให้ลดลง ตลอดจนการปรับปรุงระบบการระบายน้ำ และอุปกรณ์ให้เกิดความพร้อมและทันสมัยอยู่ตลอดเวลา

ขณะที่มาตรการระยะยาว จะต้องมีการตั้งศูนย์ หรือองค์กรอิสระในการบริหารจัดการน้ำอย่างมีระบบ เพื่อความเป็นเอกภาพและรวดเร็วในการตัดสินใจ การวางผังเมืองและการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ มีการปลูกป่าเพื่อการชะลอน้ำ การสร้างแก้มลิง การสร้างกฎหมายเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติให้สอดคล้องกับสถานการณ์ การสร้างทางระบายน้ำให้กว้างมากขึ้น วางแผนการกระจายการผลิตไปยังภูมิภาคต่างๆ ให้มากขึ้น

นายพรศิลป์ มองว่า หากไม่มีการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ย่อมจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจหลายด้าน เช่น เพิ่มความเสี่ยงในการลงทุน เนื่องจากโครงสร้างไม่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน เพราะต้นทุนแพงขึ้น เช่น เบี้ยประกันภัย ซึ่งในที่สุดนักลงทุนจะต้องย้ายฐานการผลิตไปในพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงกว่า และต้นทุนต่ำกว่า

"ผมฝากไปถึงรัฐบาลว่า ประเทศไทยปีหน้าจะต้องเอาคืนทั้งระบบ 2 ล้านล้านบาท จากในปีนี้ที่เสียหายไปราว 1 ล้านล้านบาท ปีนี้เศรษฐกิจโตแค่ 1.3%" นายพรศิลป์ กล่าว

ด้านนายบัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย เห็นว่า ถ้าภายในไตรมาส 2/55 ภาคเอกชนตลอดจนนักธุรกิจและนักลงทุนจากต่างประเทศยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนถึงแนวทางในการป้องกันปัญหาอุทกภัย และแผนบริหารจัดการน้ำอย่างถาวร จะส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุนในการเข้าทำธุรกิจในไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งมีอยู่ 3 กลุ่มสำคัญที่รอคำตอบนี้อยู่ คือ 1.ผู้ประกอบธุรกิจในประเทศ 2.บริษัทประกันภัย และ 3.ผู้ซื้อในต่างประเทศ

อย่างไรก็ดี จากที่ประเทศไทยประสบภาวะวิกฤติอุทกภัยในปีนี้ทำให้ได้เห็นถึงความเข้มแข็งของภาคธุรกิจเอกชน ตลอดจนประชาชนที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับภัยธรรมชาติที่คาดไม่ถึงได้ แต่ขณะเดียวกันยังมองเห็นถึงช่องว่างระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในเรื่องการให้ข้อมูลข่าวสารว่ารัฐบาลกำลังดำเนินการอะไรอยู่

ดังนั้นจึงเห็นว่าภายในไตรมาสแรกของปี 55 รัฐบาลควรมีความชัดเจนเกี่ยวกับแผนในการแก้ไขและป้องกันระบบน้ำท่วมที่ชัดเจน เพื่อให้ภาคธุรกิจได้เกิดความเชื่อมั่นและสามารถวางแผนบริหารการลงทุนให้สอดคล้องกัน ขณะเดียวกันภาคธุรกิจเอง ควรวางระบบจัดการความเสี่ยงภายในองค์กร มีแผนการดำเนินธุรกิจเพื่อความต่อเนื่องในการทำธุรกิจเมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤติขึ้น


แท็ก น้ำท่วม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ