ส.อ.ท.เปิดกลุ่มต่อเรือ-ซ่อมเรือ เล็งผลักดันไทยเป็น Hub ขนส่งทางน้ำ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 22, 2011 10:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดตัวกลุ่มอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมลำดับที่ 41 ภายใต้สภาอุตสาหกรรมฯ โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบเลือกตั้งคณะกรรมการวาระปี 2553 - 2555 จำนวน 7 ท่าน จากสมาชิก 20 บริษัท โดยมี นายวิรัตน์ ชนะสิทธิ์ จากบริษัท อิตัลไทย มารีน จำกัด ได้รับความไว้วางใจจากคณะกรรมการกลุ่มฯ ให้ดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือเป็นคนแรก พร้อมชูยุทธศาสตร์ในการผลักดันไทยเป็นฐานการต่อเรือและซ่อมเรือแบบครบวงจร เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำในภูมิภาค

นายวิรัตน์ ชนะสิทธิ์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ ส.อ.ท. กล่าวว่า การที่กลุ่มอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือได้เข้ามาอยู่ในภายใต้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยนั้น เพราะเราเล็งเห็นว่าสภาอุตสาหกรรมฯ นั้น ทำหน้าที่เป็นองกรค์กลางภาคเอกชน เชี่อมโยงกลไกความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ของผู้ประกอบการด้วยกันเอง รวมทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการอื่นๆ และประสานนโยบายกับภาครัฐ อีกทั้งยังส่งเสริมและพัฒนาการประกอบอุตสาหกรรม ดังนั้น จึงจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการกำหนดนโยบายที่ชัดเจนและผลักดันอย่างจริงจัง เพื่อให้มีการพัฒนากลุ่มฯ อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อที่จะได้เป็นพลังขับเคลี่อนของกลุ่มที่จะผลักดันนโยบายต่างๆ ที่เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของกลุ่มฯ รวมทั้ง Supply Chain ที่เกี่ยวเนื่อง ให้ได้รับการดูแลและพัฒนาควบคู่ไปด้วยกัน

กลุ่มอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ ได้มีการประชุมร่วมกันของคณะกรรมการในกลุ่มฯ โดยได้มีการกำหนดแผนปฎิบัติการเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ ทั้งแผนระยะสั้น (Short-term Action Plans) แผนระยะกลาง (Medium-term Action Plans) และแผนระยะยาว (long-term Action Plans)

โดยในระยะสั้น ได้วางแผนไว้ทั้งหมด 7 ข้อ คือ 1. ผลักดันให้มีการต่อเรือในประเทศ แทนการนำเข้าเรือจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กองเรือที่มีศักยภาพในการเติบโตในปัจจุบัน เช่น กองเรือขนส่งน้ำมันชายฝั่ง กองเรือขนส่งในลำน้ำ กองเรือสนับสนุนแท่นขุดเจาะน้ำมันในทะเล เรือตรวจการณ์ เรือช่วยรบ และเรือเฉพาะกิจอื่นๆ ตลอดจนเรือเพื่อการท่องเที่ยวและกีฬา 2.สร้างเครือข่าย แสวงหาความร่วมมือกับผู้ผลิตในประเทศ อาทิ อุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ 3.จัดทำ Road show โดยการทำตลาดร่วมกับการส่งออกและการท่องเที่ยว 4.ขอยกเลิกภาษีนำเข้าอุปกรณ์ Marine Type ในการสร้างและซ่อม 5.ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาของไทยพัฒนาบุคลากรเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีการต่อเรือ ซ่อมเรือ โดยการทำ Technology Transfer, Exchange Program 6.จัดทำกองทุนต่อเรือและซ่อมเรือ และจัดหาธนาคารพันธมิตร และ7.ปรับปรุงสัญญาการต่อเรือกับทางราชการให้เป็นงานก่อสร้างและสามารถปรับราคาได้ในภาพโดยรวมของประเทศ อันจะนำมาซึ่งการส่งเสริมชื่อเสียงและนำเงินตราเข้าประเทศ ได้อีกทางหนึ่งด้วย

ส่วนแผนระยะกลาง ทางกลุ่มได้วางไว้ทั้งสิ้น 10 ข้อ คือ 1.พัฒนาตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche) เรือพานิชย์กับเรือสำราญ 2.จัดทำ CRM and Customer loyalty Program 3.พัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 4.สนับสนุนวิจัยพัฒนาเรือเฉพาะทาง 5.สนับสนุนการร่วมลงทุนกับอู่ต่างประเทศ 6.สนับสนุนให้มีการตั้งนิคมอุตสาหกรรมต่อเรือฯ 7.พัฒนามาตรฐานชิ้นส่วนและอุปกรณ์ 8.สร้างพันธมิตรกับสถาบันการศึกษา 9.สร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ 10.ส่งเสริมนโยบายกฎระเบียบ พัฒนาระบบการเงิน กฎหมาย ที่สนับสนุนอุตสาหกรรมต่อเรือฯ อย่างต่อเนื่อง โดยครอบคุลมดอกเบี้ยอัตราแลกเปลี่ยน ภาษี VAT และภาษีนำเข้า

          ด้านแผนระยะยาว ได้กำหนดขึ้น 5 ข้อ คือ 1.จัดทำแบรนด์แบบโกลบอล สำหรับเรือเฉพาะทาง โดยเน้นความแตกต่าง 2.พัฒนาตลาดแบบขยายฐานและตลาดเชิงรุก 3.สนับสนุนด้านวิจัยพัฒนาร่วมกับต่างประเทศ 4.สนับสนุนการส่งออกชิ้นส่วนตามมาตรฐานโลก และ5.พัฒนานิคมอุตสาหกรรมอู่ต่อเรืออย่างต่อเนื่อง”         นายวิรัตน์ กล่าว

ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมต่อเรือฯ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า แผนการปฏิบัติการของกลุ่มอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ ส.อ.ท. ทั้ง 3 ระยะนั้น ล้วนมุ่งเน้นที่จะผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ ของไทยไปสู่การเป็นฐานการต่อเรือและซ่อมเรือแบบครบวงจร เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำในภูมิภาค อันจะส่งผลดีในการสร้างความแข็งแกร่งและความมั่นคงของเศรษฐกิจชาติต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ