นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง เปิดเผยถึงแนวทางการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยว่า จะเสนอมาตรการนำค่าใช้จ่ายซ่อมแซมบ้านพักอาศัยและรถยนต์ที่ถูกน้ำท่วมมาหักลดหย่อนการคำนวณภาษีเงินได้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ เพื่อให้สามารถหักเป็นค่าใช้จ่ายได้จริงและมีผลทันทีในปีภาษีนี้ แต่จำเป็นต้องมีใบเสร็จมาแสดง เพราะหากไม่มีใบเสร็จคงเป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้ลำบาก
"ต้องยอมรับว่ารัฐต้องยอมที่จะสูญเสียรายได้เพราะฉะนั้นคนที่อยู่นอกระบบอาจจะครอบคลุมไปไม่ถึง ดังนั้นขอให้ประชาชนจัดเตรียมเอกสารให้พร้อม"นายธีระชัย กล่าว
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวคาดว่าจะกำหนดให้สามารถนำรายจ่ายค่าซ่อมบ้านมาหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 1 แสนบาท และค่าซ่อมแซมรถยนต์ที่เสียหายไม่เกิน 3 หมื่นบาท
นายธีระชัย กล่าวว่า สำหรับมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ประสบอุทกกภัย จะเสนอให้หักค่าเสื่อมราคาเครื่องจักรมากขึ้นจากเดิมไม่เกิน 100% เปลี่ยนเป็น 1.25 เท่าหรือ 125% เพื่อประหยัดภาษี แต่จะทยอยดำเนินการ โดยปีแรกสามารถหักค่าเสื่อมได้ 40%
ส่วนมาตรการยกเว้นภาษีน้ำมันดีเซลที่จะครบกำหนดในสิ้นปีนี้นั้น ทางกระทรวงการคลังจะนำเสนอแนวทางดำเนินการต่อที่ประชุมครม.ในสัปดาห์หน้า ซึ่งคาดว่าจะเป็นการขยายเวลาออกไปอีก 1 เดือนเพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชน
นายธีระชัย กล่าวถึงเรื่องการช่วยเหลือเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรนให้กับผู้ประกอบการที่ประสบอุทกภัยว่า ได้ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบรายงานการปล่อยสินเชื่อซอฟท์โลนเข้ามาว่าสาเหตุใดทำได้ไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ เห็นว่าการเพิ่มวงเงินการปล่อยซอฟท์โลนคงไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสม เพราะต้องดูรายละเอียดก่อน
รมว.คลัง กล่าวอีกว่า ประเด็นเรื่องกองทุนหมู่บ้าน นอกเหนือจากเงื่อนไขที่กำหนดเอาไว้แล้ว สิ่งที่รัฐบาลอยากเห็นคือเรื่องของกองทุนมีความมั่นคงยั่งยืน เช่นมีระบบการบริหารจัดการที่ดีมีระบบบัญชีที่โปร่งใส มีการดูแลสวัสดิการชุมชน มีการดูแลการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ รวมถึงการที่เอกชนจะเข้ามาช่วยสนับสนุนเรื่องความรู้และทุนในการพัฒนาสินค้าให้เข้มแข็ง
ปัญหากองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง หากเป็นกองทุนที่อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยก็จะเข้าไปดูแลเป็นกรณีพิเศษ ยิ่งกองทุนที่ประสบปัญหาจะต้องมีการผ่อนปรนเงื่อนไขเพื่อให้สามารถกลับมาฟื้นตัวโดยเร็ว ก็จะเข้าไปดูแลปัญหาต้องเข้าไปช่วยเสริม ส่วนเป้าหมายการเพิ่มทุนกองทุนหมู่บ้านให้เป็น 1 ล้านบาท ยังไม่ได้กำหนดความชัดเจน ต้องรอดูข้อมูล รวมถึงมาตรการเพิ่มเติมที่จะส่งเสริมให้กองทุนหมู่บ้านมีความเข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม คาดว่าภายในปี 55 การเพิ่มทุนในกองทุนหมู่บ้านน่าจะทำได้เกิน 50% ของกองทุนที่มีอยู่ทั้งหมด
ขณะที่ปัญหาหนี้นอกระบบ ภาครัฐกำลังดำเนินการแก้ไขอย่างเรงด่วน โดยพยายามดึงประชาชนที่กู้นอกระบบให้หันมากู้ในระบบแทน แต่แก้ปัญหาให้ได้ผลคงไม่ใช่แค่การให้เงินเท่านั้น ประเด็นสำคัญต้องปรับวิถีการดำเนินชีวิตเพื่อหารายได้เข้ามามากขึ้น เชื่อว่าจะช่วยให้ปัญหาหนี้นอกระบบคลี่คลายและหมดไป