นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้าจะเสนอ ครม.ขอปันส่วนงบประมาณจำนวน 5 พันล้านบาท จากงบประมาณทั้งหมด 2 หมื่นล้านบาทที่จะใช้ในดำเนินโครงการบ้านหลังแรก เพื่อมาใช้ในการปล่อยกู้เพื่อซ่อมบ้านสำหรับผู้ประสบอุทกภัยรายละ 1 แสนบาท อัตราดอกเบี้ย 0% เป็นเวลา 3 ปี หาก ครม.อนุมัติก็พร้อมจะดำเนินการได้ทันที
ส่วนรถคันแรกนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดเป็นมาตรการออกมาก็จะให้หน่วยงานที่รับผิดชอบไปศึกษารายละเอียดก่อน หากมีส่วนใดที่สามารถปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ก็จะดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามเป้าประสงค์ที่กำหนดไว้ที่ต้องการลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ให้ประชาชน
ส่วนกรณีนโยบายรับจำนำข้าว จะให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินการเร่งรัดหนี้สำหรับเกษตรกรที่จะขอกู้เพิ่ม ให้ชะลอการชำระหนี้เก่าที่ค้างไว้ก่อนอีก 1 รอบการผลิต เนื่องจากหากมีการเร่งรัดหนี้เดิมจะทำให้เกษตรกรขาดเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งหนี้ในส่วนนี้ต้องยอมรับว่าเป็นหนี้ชั้นดี ไม่ได้มีปัญหาอะไร และคาดว่าคงจะมีจำนวนไม่มาก
นายวิรุฬ กล่าวต่อว่า การดำเนินนโยบายในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา คงจะต้องใช้เวลาอีกระยะจึงจะประเมินผลงาน และคงจะไม่มีมาตรการออกมาเพิ่มเติม เนื่องจากนโยบายที่มีอยู่มีจำนวนมาก เพียงแต่รอให้นโยบายต่างๆสัมฤทธิ์ผล
"ยอมรับว่า อาจจะยังไม่สัมฤทธิ์ผลมากนัก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมมีปัญหา โดยเฉพาะเรื่องอุทกภัย ทำให้นโยบายต่างๆยังไม่ชัดเจน ซึ่งจะต้องเร่งรัดการดำเนินการเพื่อให้สัมฤทธิ์ผลตามนโยบายที่กำหนดไว้" รมช. คลัง กล่าว
ด้านนายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวถึงรายละเอียดภาษีซ่อมบ้านซ่อมรถว่า สำหรับบ้านจะได้ 1 แสนบาท รถ 3 หมื่นบาท โดยผู้ประสบภัยสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้จริงนับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนถึงสิ้นปี 2555 จะครอบคลุมกลุ่มผู้เสียภาษีที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม แต่กรณีนี้จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 4.4 พันล้านบาท ในส่วนของซ่อมรถ 3 หมื่นบาทรัฐจะสูญเสียรายได้ประมาณ 120 ล้านบาท
ส่วนการตรวจสอบในกรณีของบ้านให้เก็บหลักฐานเป็นสำเนาบัตรประชาชนของช่างซ่อมบ้านว่าได้มีการรับเงินค่าซ่อมบ้านจริง
นายสาธิต กล่าวต่อว่า ผลกระทบจากอุทกภัยที่มีต่อการจัดเก็บรายได้ตามเป้า 1.624 ล้านล้านบาท ขยายตัว 7% จากปีก่อน ผลการจัดเก็บในไตรมาสแรก เดือน ต.ค.54 มียอดเกินเป้า 3 พันล้านบาท เนื่องจากยังไม่ได้รับผลกระทบ แต่พอมาเดือน พ.ย.54 เริ่มติดลบเนื่องจากได้รับผลกระทบบ้างบางส่วน แต่ยอดยังเป็นบวกจากยอดสะสมเก่า 1.1 พันล้านบาท แต่เดือนธ.ค.54 จะได้รับผลกระทบเต็มที่ แต่เนื่องจากมียอดบวก 1.1 พันล้านบาทจึงคาดว่าจะติดลบไม่มากนัก
อย่างไรก็ตาม กรมสรรพากรจะพยายามทำให้เป้าการจัดเก็บรายได้ดีขึ้นตั้งแต่เดือนม.ค.55 เป็นต้นไป
สำหรับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้รวมถึงทุกมาตรการที่ออกมารวม 1.3 แสนล้านบาท แต่จะพยายามดำเนินการจัดเก็บรายได้ให้เข้าเป้า เนื่องจากมีบางธุรกิจที่ยังได้ประโยชน์เช่น ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง โลจิสติก
นอกจากนี้ อยากให้ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซเข้ามาสู่ระบบของกรมสรรพากร เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ตรวจสอบได้ เพราะถ้าเข้าสู่ระบบถึงแม้ว่ายังไม่เคยเสียภาษีก็จะเก็บย้อนหลังเพียงแค่ 2 ปี แต่หากตรวจสอบพบภายหลังจะเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง 5 ปี ซึ่งพบว่ารายได้จากอีคอมเมิร์ซจะขยายตัวเพิ่มจากปีที่ผ่านๆมา หลายเท่าตัว