พาณิชย์เผยอียูออกระเบียบฉลากสินค้าอาหารฉบับใหม่ เริ่มบังคับใช้13ธ.ค.54

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 23, 2011 15:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 สหภาพยุโรป (EU) ได้ออกระเบียบ Regulation (EC) No. 1169/2011 ว่าด้วยการให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาหารแก่ผู้บริโภค บังคับใช้กับผู้ประกอบธุรกิจอาหารในทุกขั้นตอนตลอดห่วงโซ่การผลิต มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2554 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ ข้อมูลเกี่ยวกับอาหารจะต้องไม่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในลักษณะของอาหาร คุณสมบัติ ส่วนประกอบ ปริมาณ ประเทศแหล่งกำเนิด และวิธีการผลิต

สินค้า Prepacked foods จะต้องติดฉลากระบุข้อมูลด้านโภชนาการ ประกอบด้วย ปริมาณพลังงาน ไขมันทั้งหมด ไขมันอิ่มตัว คาร์โบไฮเดรต โปรตีน น้ำตาล และเกลือ เป็นต้น รวมทั้งข้อมูลที่บังคับใช้กับฉลากอาหารทุกชนิด โดยจะต้องติดฉลากบนสินค้าในจุดที่ผู้บริโภคสามารถมองเห็นได้ชัดเจน และแสดงเป็นปริมาณ 100 กรัม หรือ 100 มิลลิลิตรต่อหนึ่งหน่วยบริโภค

ฉลากสินค้าอาหารที่ระบุข้อมูลด้านโภชนาการจะต้องแสดงข้อมูลในรูปแบบตาราง หรือแนวตรง

ขนาดตัวอักษรบนฉลากอาหารจะต้องมีขนาดไม่น้อยกว่า 1.2 มิลลิเมตร หรือ 0.9 มิลลิเมตร หากพื้นที่แสดงข้อมูลบนภาชนะบรรจุอาหารมีขนาดน้อยกว่า 80 ตารางเซนติเมตร ทั้งนี้ ภาชนะบรรจุอาหารที่มีขนาดน้อยกว่า 25 ตารางเซนติเมตร ไม่ต้องแสดงข้อมูลโภชนาการ และภาชนะบรรจุอาหารที่มีขนาดน้อยกว่า 10 ตารางเซนติเมตร ไม่ต้องแสดงทั้งข้อมูลโภชนาการและรายการส่วนผสมอาหาร

กำหนดให้ระบุข้อมูลแหล่งกำเนิดสินค้าบนฉลากสินค้าเนื้อหมู เนื้อแกะ เนื้อแพะ และเนื้อสัตว์ปีก (เพิ่มเติมจากระเบียบเดิม ได้แก่ เนื้อวัวสดและผลิตภัณฑ์จากเนื้อวัว ผักและผลไม้ เนื้อปลา น้ำผึ้ง น้ำมันมะกอก)

ฉลากสินค้าอาหารทุกชนิด จะต้องแสดงชื่อของอาหาร สารที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ ปริมาณสุทธิและวันที่หมดอายุ โดยจะต้องพิมพ์ตัวอักษรที่เน้นให้เห็นชื่อส่วนผสมที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้อย่างชัดเจน

สินค้าอาหารที่มีส่วนผสมหรือเครื่องปรุงที่ประกอบด้วยสารปรุงแต่งเลียนแบบธรรมชาติ (imitation food) จะต้องระบุรายการส่วนผสมหรือเครื่องปรุงที่ใช้ในการปรุงแต่งอาหารลงบนฉลากสินค้า เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถจำแนกออกได้ง่าย

สินค้าอาหารที่มีส่วนผสมของน้ำมันพืชจะต้องระบุรายการน้ำมันพืชที่ใช้ทั้งหมดลงบนฉลากสินค้า โดยจัดเป็นกลุ่มของ “vegetable oils" และแยกเป็นรายชื่อน้ำมันพืชแต่ละชนิด พร้อมทั้งสัดส่วนที่ใช้

ประเทศสมาชิก EU จะต้องนำกฎระเบียบดังกล่าวไปบังคับใช้ภายในวันที่ 13 ธันวาคม 2557 สำหรับข้อกำหนด Nutrition Declaration จะนำมาบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2559

นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า ไทยส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร ไป EU โดยเฉลี่ย(2551-2553) มูลค่า 76,053 ล้านบาท/ปี และในปี 2554 (ม.ค.-ต.ค.) ส่งออกมูลค่า 79,426 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2553


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ