นายพิชัย นริพทะพันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้จะเดินทางไปกัมพูชาร่วมกับนายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ ตามคำเชิญของรัฐมนตรีต่างประเทศของกัมพูชา ซึ่งจะมีการเข้าพบสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เพื่อสานสัมพันธ์ และเป็นจุดเริ่มต้นในการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างกัน โดยเฉพาะพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อนในทะเล ขนาด 26,000 ตารางกิโลเมตร ส่วนจะมีการยึดถือข้อตกลงตามเอ็มโอยู 2544 หรือไม่นั้น เป็นเรื่องรายละเอียดที่ต้องมัการหารือต่อไป โดยกระทรวงพลังงานต้องการเห็นการเจรจาเกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อความมั่นคงทางด้านพลังงานและประโยชน์ร่วมกันของสองประเทศ
นายพิชัย ยังกล่าวถึงนโยบายด้านพลังงานในปี 2555 ว่า จะใช้นโยบาย “ท่อ บ่อ ถัง" เพื่อสร้างความมั่นคง ซึ่งในส่วนของ "ท่อ" จะมีการเร่งโครงการก่อสร้างท่อก๊าซไปยังภาคเหนือและอีสาน รวมทั้งโครงการท่อน้ำมันส่วนขยาย แม้ว่าผลตอบแทนการลงทุนจะต่ำ แต่จะช่วยสร้างความมั่นคงและลดอุบัติเหตุจากการขนส่งน้ำมันทางรถยนต์
สำหรับ "บ่อ" นั้น จะมีการเจรจาสำรวจปิโตรเลียมในต่างประเทศ เช่น หารือกับพม่า และกัมพูชา โดยพม่า ได้มีนโยบายให้บมจ. ปตท. (PTT) ไปหารือว่าจะมีการลงทุนเพิ่มเติมได้หรือไม่ เช่น โครงการโรงแยกก๊าซและอื่นๆ โดยในวันที่ 3 ม.ค.ปีหน้า ทางบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม(PTTEP) จะลงนามกับทางรัฐบาลพม่า เกี่ยวกับสัญญาการผลิตแหล่งเอ็ม 3 ซึ่งจากการสำรวจเบื้องต้น พบว่ามีก๊าซเปียกที่เหมาะสมกับการผลิตปิโตรเคมีด้วย และในเดือนกุมภาพันธ์ ปตท.สผ.จะลงนามกับรัฐบาลพม่าในการรับสัมปทานปิโตรเลียมแหล่งบนบก 2 แหล่ง คือแหล่ง PHCQ และ EP2
ส่วนนโยบาย "ถัง" จะเป็นการส่งเสริมการลงทุนการสร้างคลังน้ำมัน และคลังก๊าซในประเทศไทย โดยเฉพาะคลังน้ำมันในภาคใต้ในโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งหากเกิดขึ้นจะช่วยลดระยะเวลาการขนส่งน้ำมันจากตะวันออกกลางมาเป็นประเทศไทย และกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกไกล เป็นต้น
สำหรับความคืบหน้าการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน รมว.พลังงาน กล่าวว่า จะยังเดินหน้าการปรับราคา NGV และ LPG รวมถึงการจัดเก็บเงินกองทุนน้ำมันดีเซล เบนซินในวันที่ 16 ม.ค.ปีหน้าเช่นเดิม แม้ว่าทางกลุ่มผู้ประกอบการขนส่งและแท็กซี่จะคัดค้านการปรับขึ้นราคา โดยจตะมีการประท้วงปิดถนนในวันที่ 9 ม..ค.ก็ตาม ซึ่งทางกระทรวงจะเชิญกลุ่มนี้มาหารือในวันที่ 12 ม.ค. และขอให้พูดคุยด้วยเหตุและผล และตามข้อเท็จจริงการปรับขึ้นราคาเพราะต้นทุน NGV ขณะนี้สูงถึง 16.80 บาท/กิโลกรัม แต่ปัจจุบันราคา NGV ยังตรึงอยู่ที่ 8.50 บาท/กิโลกรัม ในขณะที่ ปตท.และกองทุนน้ำมันฯ ต้องเข้ามาอุดหนุนราคา NGV จึงไม่เป็นธรรม โดย ปตท.ขาดทุนจากการตรึงราคา NGV แล้ว 40,000 ล้านบาท