นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงวันที่ 23 ธ.ค.54 มีนักลงทุนยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจำนวน 1,847 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 663,600 ล้านบาท โดยโครงการปรับเพิ่มขึ้น 21% เมื่อเทียบกับการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนปี 23 ที่มี 1,524 โครงการ ในขณะที่เงินลงทุนปรับเพิ่มขึ้น 61% เมื่อเทียบกับปี 53 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ 412,000 ล้านบาท
“นักลงทุนให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในไทย ตลอดทั้งปี แม้ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ประเทศไทยจะเผชิญกับภัยธรรมชาติ จนทำให้การลงทุนอาจชะลอลงบ้าง แต่โดยภาพรวมการลงทุนในประเทศไทยยังสามารถขยายตัวได้ โดยมูลค่าการลงทุนปีนี้เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 500,000 ล้านบาท หรือเกินเป้าหมายไปถึงกว่าร้อยละ 32"นพ.วรรณรัตน์ กล่าว
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)คาดว่าทิศทางการเติบโตของการลงทุนจะต่อเนื่องไปจนถึงปี 55 ซึ่งรัฐบาลจะเร่งสร้างความเชื่อมั่นด้านการลงทุนผ่านกิจกรรมต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศตลอดทั้งปี งานแรกจะเริ่มด้วยงานบีโอไอแฟร์ 2011 ที่จะมีผู้บริหาร และซีอีโอบริษัทต่างประเทศเข้าร่วมงาน ซีอีโอฟอรั่มเพื่อรับฟังทิศทางและนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย รวมทั้งแนวทางการรับมือกับความท้าทายและภาวะเศรษฐกิจโลก
สำหรับกิจการที่มีมูลค่ายื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนสูงสุด ได้แก่ กิจการบริการและสาธารณูปโภค จำนวน 401 โครงการ เงินลงทุน 251,100 ล้านบาท จำนวนโครงการใกล้เคียงกับปีก่อนที่มี 406 โครงการ ด้านมูลค่าเงินลงทุนปรับเพิ่มขึ้น 80% จากปีก่อนที่มีมูลค่าอยู่ที่ 139,700 ล้านบาท
รองมาเป็นกิจการ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง จำนวน 478 โครงการ เงินลงทุน 130,500 ล้านบาท โครงการปรับเพิ่มขึ้น 56% จากปีก่อนที่มี 306 โครงการ ในขณะที่เงินลงทุนปรับเพิ่มขึ้น 130% จากปีก่อนที่มีมูลค่าเงินลงทุนที่ 56,700 ล้านบาท
กิจการ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องไฟฟ้า จำนวน 259 โครงการ เงินลงทน 86,700 ล้านบาท โครงการปรับเพิ่มขึ้น 16% จากปีก่อนที่มี 223 โครงการ เงินลงทุนปรับเพิ่มขึ้น 34% จากปีก่อนที่มีมูลค่าอยู่ที่ 65,400 ล้านบาท กิจการ เคมี กระดาษ และพลาสติก มีจำนวน 227 โครงการ เงินลงทุน 84,000 ล้านบาท โครงการปรับเพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อนที่มี 206 โครงการ ด้านมูลค่าเงินลงทุนปรับเพิ่มขึ้น 105% จากปีก่อนที่มีมูลค่าอยู่ที่ 40,500 ล้านบาท
กิจการเกษตรกรรม และผลิตผลจากการเกษตร มี 307 โครงการ เงินลงทุน 67,000 ล้านบาท โครงการปรับเพิ่มขึ้น 22% จากปีก่อนที่มี 251 โครงการ ขณะที่เงินลงทุนเพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อนที่มีมูลค่าอยู่ที่ 60,700 ล้านบาท กิจการเหมืองแร่ เซรามิกส์ และโลหะขั้นมูลฐาน 52 โครงการ เงินลงทุน 29,300 ล้านบาท โครงการปรับเพิ่มขึ้น 53% จากปีก่อนที่มี 34 โครงการ ด้านมูลค่าเงินลงทุนใกล้เคียงกับปีก่อนที่มีมูลค่าอยู่ที่ 37,500 ล้านบาท และกิจการอุตสาหกรรมเบา 123 โครงการ เงินลงทุน 15,300 ล้านบาท โครการปรับเพิ่มขึ้น 25.5% จากปีก่อนที่มี 98 โครงการ ด้านมูลค่าเงินลงทุนปรับเพิ่มขึ้น 25% จากปีก่อนที่มีมูลค่าอยู่ที่ 11,700 ล้านบาท
รมว.อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีจำนวน 1,019 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 390,920 ล้านบาท โดยจำนวนโครงการปรับเพิ่มขึ้น 18% จากปีก่อนที่มี 863 โครงการ ด้านมูลค่าเงินลงทุนปรับเพิ่มขึ้น 67% จากปีก่อนที่มีมูลค่าอยู่ที่ 234,611 ล้านบาท โดยนักลงทุนจากญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนสูงสุด อยู่ที่ 543 โครงการ เงินลงทุน 187,750 ล้านบาท โครงการปรับเพิ่มขึ้น 50% จากปีก่อนที่มี 362 โครงการ ด้านมูลค่าเงินลงทุนปรับเพิ่มขึ้น 82% จากปีก่อนที่มี 103,045 ล้านบาท
สำหรับกลุ่มนักลงทุนจากต่างประเทศรองจากญี่ปุ่น คือ ประเทศจีน มีจำนวน 34โครงการ เงินลงทุน 28,447 ล้านบาท สิงคโปร์ จำนวน 51 โครงการ เงินลงทุน 23,706 ล้านบาท ฮ่องกง จำนวน 32โครงการ เงินลงทุน 13,261 ล้านบาท เป็นต้น