นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยว่า ธปท.อยู่ระหว่างติดตามมาตรการของสถาบันการเงินในให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมว่าจะทำให้กิจการฟื้นตัวได้เร็วแค่ไหน เพราะหากลูกหนี้ไม่สามารถฟื้นตัวและชำระหนี้ไม่ได้ภายในระยะเวลาที่ ธปท.ผ่อนผันออกไปจนถึงกลางปี 55 ก็น่ากังวลว่าจะเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)แต่หากผู้ประกอบการฟื้นตัวกลับขึ้นมาชำระหนี้ได้ก็จะเป็นผลดี
อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้คงมีการหารือกันระหว่างสถาบันการเงิน และผู้ประกอบการต่อเนื่อง เพื่อรอดูข้อมูลและติดตามการประเมินผลอีกครั้ง
"ลูกหนี้ส่วนใหญ่จะฟื้นตัวหรือไม่ น่าจะมีความชัดเจนขึ้นในช่วงไตรมาส 2 เพราะหากเลื่อนชำระหนี้จาก 3 เดือน หรือ 6 เดือนตามที่ ธปท.ผ่อนผันหลักเกณฑ์ให้ไปแล้วยังไม่ฟื้นตัว และขอเลื่อนออกไปอีก ก็น่าเป็นห่วงว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป"นายประสาร กล่าว
ส่วนความคืบหน้าการปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษ(ซอฟท์โลน)ให้แก่สถาบันการเงินเพื่อนำไปปล่อยกู้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและรายย่อย(SMES)วงเงิน 300,000 ล้านบาทนั้น ขณะนี้ กระทรวงการคลังกำลังอยู่ระหว่างหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาออกร่างพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)การกู้เงินเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ จึงต้องรอฟังความชัดเจนเรื่องอัตราดอกเบี้ยจากกระทรวงคลังอีกครั้ง
นายทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาธปท.ได้ส่งทีมเจ้าหน้าที่ลงไปสำรวจพื้นที่ความเสียหายในนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค(บ้านหว้า) นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน และเขตอุตสาหกรรมนวนคร ซึ่งมีผู้ประกอบการเริ่มกลับมาผลิตแล้วบางส่วน เช่น บางปะอิน 12 โรงงาน เช่น เวสเทิร์น ดิจิตอล, บ้านหว้า โรงงานในเอสเอ็มอี โซนแคนนอน และนวนคร 4 โรงงาน เช่น โรห์ม อินทิเกรเต็ด เซมิคอนดัคเตอร์, นานโกะ (Nanko) และกิฟฟารีน
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจะเลือกลงทุนเพื่อฟื้นฟูกำลังการผลิตให้กลับมาเต็มร้อยหรือไม่ในระยะสั้น หรือจะเลือกย้ายฐานการผลิตในอนาคตขึ้นอยู่กับความมั่นใจต่อมาตรการของรัฐในการป้องกันน้ำท่วมในอนาคต ความคุ้มค่าในการลงทุน และหากผู้ประกอบการรายใหญ่ย้ายฐานการผลิต ผู้ประกอบการที่เป็นห่วงโซ่รับจ้างผลิตชิ้นส่วนมีโอกาสย้ายฐานตามออกไปด้วย