นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง เปิดเผยผลการหารือร่วมกับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์, ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.), สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เกี่ยวกับการบริหารจัดการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่มีภาระหนี้ในวงเงิน 1.14 ล้านล้านบาทว่า ข้อสรุปเบื้องต้นเห็นว่าแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวจะไม่มีการโอนหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ ทั้งหมดไปยัง ธปท.
แต่ทั้งนี้จะใช้วิธีการแก้ไขกฏหมายเพื่อเพิ่มอำนาจให้กองทุนฟื้นฟูฯ ในการดำเนินการรูปแบบต่าง ๆ เช่น เรียกเก็บเงินจากสถาบันการเงินจำนวน 1.5 หมื่นล้านบาท และโอนรายได้จากสถาบันคุ้มครองเงินฝากจำนวน 3 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปจ่ายหนี้ในส่วนที่เป็นภาระดอกเบี้ยของกองทุนฟื้นฟูฯ
รมว.คลัง ชี้แจงว่า ที่ประชุมวันนี้เห็นชอบในหลักการที่จะใช้กองทุนฟื้นฟูฯ เป็นกลไกในการหาแหล่งเงินและรายได้เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ โดยจะมีการดำเนินการดังนี้ คือ จะมีการโอนรายได้ที่เกิดจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก โดยนำรายได้ในส่วนนี้ไปอยู่ที่กองทุนฟื้นฟูฯ เป็นการชั่วคราว ซึ่งขณะนี้สถาบันคุ้มครองเงินฝากมีรายได้ปีละประมาณ 3 หมื่นล้านบาท นอกจากนั้นจะเสนอแก้กฎหมายเพิ่มอำนาจให้แก่กองทุนฟื้นฟูฯ ในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ จากระบบสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นในอัตราที่ไม่เป็นภาระมากเกินไป โดยแนวทางนี้เชื่อว่าจะไม่เป็นภาระแก่งบประมาณในการชำระดอกเบี้ย และจะไม่กระทบต่อวินัยการเงินการคลัง
"ขณะนี้รัฐบาลมีภาระที่ต้องชำระดอกเบี้ยกองทุนฟื้นฟูฯ อยู่ประมาณ 45,000 ล้านบาท แต่จะได้จากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก 30,000 ล้านบาท และจะเปิดให้กองทุนฟื้นฟูฯ เรียกเก็บจากสถาบันการเงินอย่างน้อย 15,000 ล้านบาท ส่วนของเงินต้นนั้น ยังให้เป็นไปตามกลไกเดิม คือ ธปท.เป็นผู้ชำระเงินต้น"รมว.คลัง กล่าว
พร้อมระบุว่า หากรัฐบาลจะกู้เงินมาลงทุนเพิ่มนั้น ถ้ากู้ยืมอย่างฉลาดโดยลงทุนในโครงการที่เป็นแหล่งรายได้ของประเทศอย่างยั่งยืน ก็สามารถเพิ่มหนี้ต่อจีดีพีได้อีกพอสมควร โดยวงเงินกู้ยืมไม่ว่าจะเป็น 3 แสนล้านบาท หรือ 6 แสนล้านบาทก็ไม่มีปัญหา
ส่วนจะนำเงินจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากมาจนกว่าจะเพียงพอกับการแก้ปัญหาหนี้เก่า หรือหาวิธีการหรือกลไกในการแก้ปัญหาหนี้เก่า โดยไม่กระทบหรือเป็นภาระงบประมาณในแต่ละปี ซึ่งท้ายสุดก็ต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม ครม.
"หนี้ดังกล่าวถ้าโอนให้แบงก์ชาติจะต้องมีการพิมพ์ธนบัตร แต่ที่ประชุมวันนี้ได้มีการหารือว่าถ้าโอนไปกองทุนฟื้นฟูฯ ผู้ลงทุนก็จะคิดว่ารัฐบาลเข้าไปค้ำประกัน และหนี้ที่เป็นของกองทุนฟื้นฟูฯ ก็ยังถือว่าเป็นหนี้สาธารณะอยู่ดี ซึ่งเมื่อพิจารณาอย่างนี้ ถ้าโอนไปแล้วและให้กองทุนฟื้นฟูฯ ออกพันธบัตรแทนรัฐบาล อัตราดอกเบี้ยก็จะสูงขึ้น จึงจะหนีไม่พ้นที่รัฐบาลต้องเข้าไปค้ำประกัน ดังนั้นการโอนหนี้ในกองทุนฟื้นฟูฯ จึงมีความจำเป็นในระดับรองลงมา"รมว.คลัง ระบุ
ขณะที่นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า การหารือมีข้อสรุปเบื้องต้นใน 3 ขั้นตอน คือ 1.ธปท.จะไม่พิมพ์ธนบัตรออกมาเพิ่มเพื่อการใช้หนี้แทนกองทุนฟื้นฟูฯ 2.จะหารูปแบบการชดเชยภาระหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ ที่จะไม่ทำให้เสียวินัยการคลัง และ 3.จะใช้แนวทางที่ไม่กระทบกับทุนสำรองระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ดี ประเด็นเรื่องการโอนหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ จะต้องมีการหารือกันอย่างละเอียด เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ทั้งธปท.เอง ตลอดจนกระทรวงการคลังและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งคงต้องมีการแก้ไขกฎหมาย เพียงแต่ในขณะนี้ยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นกฎหมายตัวใด จึงต้องรอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหารือกันก่อนและจะพยายามดำเนินการให้เร็วที่สุด
ส่วนกรณีที่นายกิตติรัตน์ออกมาระบุว่าสามารถนำกำไรที่มีอยู่จากผลประกอบการของ ธปท.มาใช้คืนหนี้กองทุนฯ ได้นั้น ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ กล่าวว่า ปีนี้ ธปท.มีผลประกอบการขาดทุน เนื่องจากค่าเงินบาทผันผวน โดยช่วงต้นปีเงินบาทแข็งค่า และกลับมาอ่อนค่าในช่วงกลางปีถึงปลายปี
อย่างไรก็ดี ยืนยันว่าการแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ จะไม่ให้กระทบกับเงินในส่วนที่ได้รับการบริจาคของหลวงตามหาบัว รวมทั้งจะไม่ให้กระทบต่อความเชื่อมั่นของ ธปท.เองด้วย