คปภ.จับมือพันธมิตรติดตามความคืบหน้าช่วยผู้ประกอบการ-ปชช.ถูกน้ำท่วม

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 30, 2011 16:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) เผยสำนักงาน คปภ.ประชุมร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัย สมาคมประกันชีวิตไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) ติดตามความคืบหน้าการดำเนินการให้ความช่วยเหลือด้านการประกันภัย ด้านการจ่ายค่าสินไหมทดแทน และการต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม และประชาชนผู้เอาประกันภัยในศักยภาพของธุรกิจประกันภัย

ในกรณีมีความจำเป็นผู้ประกอบการสามารถทำความสะอาดซ่อมแซมเครื่องจักรหรือจัดซื้ออะไหล่ โดยประสานบริษัทประกันภัยโดยตรงเพื่อแจ้งขออนุมัติวงเงินดังกล่าว และเก็บใบเสร็จไว้เป็นหลักฐานเพื่อประกอบการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนต่อไป

ส่วนกรณีที่สามารถกำหนดจำนวนเงินความเสียหายได้แล้ว บริษัทประกันภัยจะพิจารณาจ่ายค่าสินไหมทดแทนเบื้องต้นร้อยละ 10 ของจำนวนเงินความเสียหายทั้งหมดให้แก่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเสียหายเบื้องต้นให้ธุรกิจมีเงินทุนหมุนเวียนสามารถดำเนินการต่อไปได้ในระยะแรก เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการประกันภัยแก่นิคมอุตสาหกรรมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยรับเป็นศูนย์กลางรวบรวมประเด็นปัญหาของสมาชิกผู้ประกอบการ โดยสมาคมประกันวินาศภัยจะจัดตั้งคณะทำงานย่อยขึ้น เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการประกันภัยเป็นไปอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จะออกเยี่ยมเยียนผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม โดยเริ่มที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ และนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคก่อน

เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า ความเสียหายจากอุทกภัยในครั้งนี้สูงกว่าที่ประมาณการณ์ไว้ในเบื้องต้น แต่ด้วยความร่วมมือกันของทุกฝ่ายมาตรการเร่งรัดการชำระค่าสินไหมทดแทนตามเป้าหมายร้อยละ 75 ใน 6 เดือนก็มีพัฒนาการขึ้นมาเป็นลำดับ สำหรับการต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัยในปีหน้ามีแนวโน้มที่เบี้ยประกันภัยจะสูงขึ้นตามสภาพความเสี่ยงภัยที่เพิ่มขึ้นควบคู่ไปกับการเสนอส่วนลดเบี้ยประกันภัยในกรณีที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมีมาตรการป้องกันความเสี่ยงภัยที่ดีได้มาตรฐาน โดยสำนักงาน คปภ. และสมาคมประกันวินาศภัยจะร่วมกันให้คำปรึกษาแนะนำและความชัดเจนเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนการป้องกันความเสี่ยงภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับภาคครัวเรือน และธุรกิจ SME ขณะนี้ภาครัฐได้อนุมัติในหลักการสำหรับงบประมาณ 50,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการจัดตั้งโครงสร้างการประกันมหันตภัยของประเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบรับประกันภัยต่อ อีกทั้งเพื่อให้สาธารณะชนสามารถเข้าถึงความคุ้มครองจากภัยธรรมชาติในอัตราเบี้ยประกันที่ต่ำลง ยังคงมีขั้นตอนการดำเนินการอีกหลายประการ อันจะแจ้งให้ทราบต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ