(เพิ่มเติม) พาณิชย์เผย CPI เดือน ธ.ค.เพิ่มขึ้น 3.53%,Core CPI เพิ่มขึ้น 2.66%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 4, 2012 13:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI)เดือน ธ.ค.54 อยู่ที่ 112.77 เพิ่มขึ้น 3.53% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่ำสุดในรอบ 8 เดือน และลดลง 0.48% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย.54 ส่งผลให้ CPI ทั้งปี 54 เพิ่มขึ้น 3.81% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ(Core CPI) เดือน ธ.ค.54 อยู่ที่ 106.98 เพิ่มขึ้น 2.66% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.11% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย.54 ส่งผลให้ Core CPI ทั้งปี 54 เพิ่มขึ้น 2.36% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 135.77 เพิ่มขึ้น 9.09% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 1.20% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย.54 ส่วนดัชนีราคาหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 99.55 เพิ่มขึ้น 0.17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือน พ.ย.54 ไม่เปลี่ยนแปลง

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สาเหตุที่อัตราเงินเฟ้อในเดือน ธ.ค.ปรับตัวลดลงจากเดือน พ.ย.54 เป็นผลมาจากสถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลายส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวลดลง โดยเฉพาะอาหารสด เช่น ผักสด ผลไม้ ไข่ไก่ และ ไก่สด ประกอบกับเป็นช่วงฤดูหนาว สภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวยให้ปริมาณผลผลิตเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันราคาน้ำมันในประเทศได้ปรับตัวลดลงตามภาวะตลาดโลก ส่งผลให้ต้นทุนการผิตและการขนส่งลดลงด้วยเช่นกัน

ส่วนอัตราเงินเฟ้อเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนยังปรับตัวสูงขึ้น 3.53% นั้น นายยรรยง กล่าวว่า เป็นผลจากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่ม 9.09% เช่น สินค้าในหมวดข้าว แป้ง ผลิตภัณฑ์จากแป้ง เนื้อสัตว์ สัตว์น้ำ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ อาหารสำเร็จรูป และค่าตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล หมวดการอ่านและการศึกษา และหมวดเคหะสถาน เป็นต้น

ทั้งปี 54 อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยที่ 3.81% เป็นการสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาสินค้าเกษตรและน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นไปตามภาวะราคาในตลาดโลก จึงทำให้ราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะอาหารสด ประเภทเนื้อสัตว์ ผัก และ ผลไม้สูงขึ้น รวมทั้งน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 1-2/54 แม้รัฐบาลจะมีนโยบายยกเว้นการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันในช่วงครึ่งหลังของไตรมาส 3/54 และผลจากการปรับลดมาตรการลดค่าครองชีพของประชาชน เช่น การลดการอุดหนุนค่าไฟฟ้า น้ำประปา จึงมีผลทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น

นอกจากนี้ในช่วงไตรมาส 4/54 คือ เดือนต.ค- พ.ย. ได้เกิดเหตุอุทกภัยอย่างรุนแรง จึงทำให้สินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพสูงขึ้นตามความต้องการที่มากขึ้น ประกอบกับความเสียหายในพื้นที่แหล่งผลิตสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม รวมทั้งอุปสรรคในการขนส่งสินค้าทำให้ต้นทุนการขนส่งสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ในเดือน ธ.ค.สถานการณ์น้ำท่วมได้เริ่มคลี่คลายลง ทำให้ราคาสินค้ากลับเข้าสู่ภาวะปกติและอัตราเงินเฟ้ออ่อนตัวลง

กระทรวงพาณิชย์ ได้สรุปอัตราเงินเฟ้อเป็นรายไตรมาสในปี 54 โดยไตรมาส 1/54 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3.01% ไตรมาส 2/54 อยู่ที่ 4.10% ไตรมาส 3/54 อยู่ที่ 4.13% ส่วนไตรมาส 4/54 อยู่ที่ 3.97%

ส่วนคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อสำหรับปี 55 น่าจะอยู่ที่ 3.3-3.8% ภายใต้สมมติฐานอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 29-33 บาท/ดอลลาร์ ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 95-115 ดอลลาร์/บาร์เรล และรัฐบาลยังคงมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนต่อไป โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในไตรมาสแรกของปี 55 จะอยู่ในกรอบ 3.65-3.75%

ปัจจัยที่มีผลต่อภาวะเงินเฟ้อในปีนี้ ประกอบด้วย 1.ความผันผวนจากสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในแถบยุโรปและตะวันออกกลาง ซึ่งจะมีผลต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก 2. ปัญหาภัยธรรมชาติที่คาดว่าในปีนี้อาจเกิดทั้งภาวะภัยแล้งและอุทกภัยที่มีผลมาจากสภาพอากาศที่ผิดปกติ จึงส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าเกษตร โดยเฉพาะประเทศไทยที่เป็นแหล่งผลิตที่สำคัญของโลก อาจจะทำให้ราคาสินค้าอาหารมีความผันผวน 3.ภาวะอัตราแลกเปลี่ยนของโลกที่มีความผันผวน ซึ่งมีผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบต่อราคาสินค้า 4. อัตราดอกเบี้ย ซึ่งยังมีทิศทางที่ไม่ชัดเจน

ปลัดพาณิชย์ยังกล่าวถึงแนวโน้มที่รัฐบาลจะปรับขึ้นราคาก๊าซ NGV และ LPG ในภาคขนส่งว่า คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อดัชนีราคาผู้บริโภคให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 0.05% ต่อปี แยกเป็นผลกระทบทางตรงต่อการบริโภคที่จะสูงขึ้น 0.02%ต่อปี และผลกระทบทางอ้อมจากภาคขนส่งที่จะปรับขึ้น 0.03%ต่อปี โดยมองว่าภาพรวมการปรับขึ้นราคาพลังงานถือว่ามีผลกระทบต่อราคาสินค้าน้อยมาก

สินค้าที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นจากผลการปรับราคาก๊าซ เช่น ปูนซีเมนต์พอร์ตแลนด์ ปรับเพิ่มขึ้น 1.8-3.8%, ท่อพีวีซี เพิ่มขึ้น 1.2-2.7%, น้ำดื่มบริสุทธิ์ขนาด 500 ซีซีเพิ่มขึ้น 1.0-2.1%, ผงซักฟอก ขนาด 1000 กรัม ปรับเพิ่มขึ้น 0.7-1.5%, กระดาษชำระ 1 แพค ปรับเพิ่มขึ้น 0.8-1.8% และคอนกรีตบล็อค ปรับเพิ่มขึ้น 0.4-0.9% เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ