In Focus“ตลาดเกิดใหม่" กับความหวังต่อลมหายใจเศรษฐกิจโลกปีมังกร

ข่าวต่างประเทศ Wednesday January 4, 2012 13:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจทั้งสองฟากฝั่งของมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งก็คือสหรัฐและยุโรป ที่ลากยาวคาราคาซังมาตลอดปี 2554 นั้น นักวิเคราะห์หลายสำนักต่างก็ออกมาฟันธงในทิศทางเดียวกันเมื่อช่วงใกล้สิ้นปีที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจโลกจะยังคงอยู่ในขั้นโคม่าต่อไปในปี 2555 และจะมีการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางเศรษฐกิจโลก โดยฝ่ายวิจัยธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดชี้ว่า เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 เนื่องจากวิกฤตการเงินในโลกตะวันตก ฉุดเศรษฐกิจโลกทั้งปีเติบโตที่ระดับ 2.2% ขณะที่นายเจอราร์ด ลีออง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และหัวหน้าสำนักวิจัยของกลุ่มธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด คาดว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง การเติบโตที่แข็งแกร่งในจีนและกลุ่มประเทศในตลาดเกิดใหม่อื่นๆน่าจะช่วยหนุนเศรษฐกิจโลกให้สามารถพลิกฟื้นขึ้นมาได้ โดยการปรับตัวขึ้นในซีกโลกตะวันออก ซึ่งจะส่งผลไปยังซีกโลกตะวันตก และจะเป็นบทพิสูจน์สำคัญที่ยืนยันถึงการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจเศรษฐกิจโลก

“ตลาดเกิดใหม่" อาจไม่ใช่คำที่แปลกใหม่สำหรับนักลงทุนและแวดวงเศรษฐกิจ แต่ในปีนี้อาจเป็นที่จับตามากขึ้นอีกครั้งในฐานะ “ความหวัง" หรือ “ที่พึ่ง" เดียวในการต่อลมหายใจเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ ในห้วงเวลาที่เศรษฐกิจของภูมิภาคที่เคยเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐและยุโรป ได้ประสบปัญหาเศรษฐกิจที่รุนแรงไม่แพ้กันและในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน

ตลาดเกิดใหม่ (Emerging markets) หมายถึงกลุ่มประเทศที่กิจกรรมเศรษฐกิจมีอัตราการขยายตัวรวดเร็ว โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาเศรษฐกิจให้มีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ส่วนใหญ่มักเป็นแหล่งทรัพยากรและแรงงานที่สำคัญ นอกจากนี้ กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ยังมีจำนวนประชากรคิดเป็นราว 80% ของประชากรทั่วโลกและมีขนาดเศรษฐกิจคิดเป็นสัดส่วน 20% ของเศรษฐกิจโลก โดยทั่วไปมีการแบ่งกลุ่มตลาดเกิดใหม่ออกเป็น 4 กลุ่มตามภูมิภาค คือ

ตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย (Emerging Asia) เช่น จีน อินเดีย เกาหลีใต้ ไต้หวันและไทย

ตลาดเกิดใหม่ในละตินอเมริกา (Emerging Latin) เช่น บราซิล ชิลี อาร์เจนตินาและเม็กซิโก

ตลาดเกิดใหม่ในยุโรปตะวันออก (Emerging Eastern Europe) เช่น สาธารณรัฐเชก ฮังการี โปแลนด์และรัสเซีย

ตลาดเกิดใหม่ในตะวันออกกลาง/แอฟริกา (Emerging Middle East/Africa) เช่น แอฟริกาใต้ อียิปต์ ไนจีเรีย และลิเบีย

ปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตในประเทศตลาดเกิดใหม่ ได้แก่ การขยายตัวอย่างรวดเร็วของชนชั้นกลาง และการเพิ่มการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในประเทศโลกตะวันออก อีกทั้งเครือข่ายธุรกิจที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งขึ้นในแถบแนวพื้นที่การค้าใหม่ ที่ช่วยเชื่อมเศรษฐกิจระหว่างเอเชีย แอฟริกา ตะวันออกกลาง และละตินอเมริกาเข้าด้วยกัน

“เอเชีย" อาจถือได้ว่าเป็นกลุ่มตลาดเกิดใหม่ที่ได้รับการพูดถึงและมีแนวโน้มสดใสมากที่สุด การที่กลุ่มตลาดเกิดใหม่ในเอเชียประกอบไปด้วยจีน ซึ่งมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียและใหญ่อันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐ และอินเดีย ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ในเอเชีย รองจากจีนและญี่ปุ่น และรั้งอันดับ 10 ของโลกนั้น ยิ่งช่วยเพิ่มบทบาทความสำคัญแก่ภูมิภาคนี้ เนื่องจากสัดส่วนเศรษฐกิจขนาดใหญ่และเข็งแกร่งของทั้งจีนและอินเดียได้ช่วยส่งเสริมการขยายตัวโดยรวมของทั้งกลุ่ม

คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งสหประชาติสำหรับละตินอเมริกาและแคริบเบียน (ECLAC) เปิดเผยในรายงาน "Annual Balance of the Region's Economies" เมื่อเทียบกับประเทศยุโรป สหรัฐ และญี่ปุ่นแล้ว เศรษฐกิจจีนยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่งในปี 2554 แม้จะชะลอตัวลงบ้างจากมาตรการคุมเข้มด้านการเงินและสินเชื่อ และการชะลอมาตรการกระตุ้นการลงทุน

จุดแข็งของเอเชียคือการมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่ระดับสูง รัฐบาลมีหนี้สินต่ำและแม้จะมีการก่อหนี้ แต่ส่วนใหญ่เป็นหนี้ภายในประเทศ ซึ่งส่งผลให้ฐานะการคลังของรัฐบาลมีความเข้มแข็ง นอกจากนี้ การที่เอเชียเคยมีประสบการณ์ในการเผชิญวิกฤติมาก่อน ถือเป็นบทเรียนที่ดีในการทำให้มีความระมัดระวังในการดำเนินนโยบายและมีกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้น

ไม่เพียงแต่นักลงทุนต่างชาติจะเล็งเป้าหมายมาที่กลุ่มตลาดเกิดใหม่ในเอเชียเท่านั้น แต่ภายในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ด้วยกันเองต่างก็มองหาช่องทางเพิ่มการค้าระหว่างกันเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั้งในยุโรปและสหรัฐ หลังจากวิกฤติหนี้สาธารณะของยุโรปส่งผลให้คำสั่งซื้อจากทวีปดังกล่าวลดลง ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่ การค้าภายในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นและการสานสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่อื่นๆจะช่วยให้เอเชียอยู่รอดได้ท่ามกลางมรสุมเศรษฐกิจในโลกตะวันตก โดยนายเดวิด อเดลแมน เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำสิงคโปร์กล่าวเมื่อปลายปี 2554 ว่า ถึงเอเชียจะไม่สามารถตัดขาดจากอเมริกาหรือยุโรปอย่างสิ้นเชิง แต่ก็จะไม่ล้มตามไปด้วย โดยเศรษฐกิจเอเชียอาจจะชะลอตัว แต่จะไม่ชะงักงัน ยกเว้นว่าอาจจะมีบางประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ที่ต้องพึ่งพาตลาดสหรัฐเป็นหลัก เนื่องจากสินค้าที่ผลิตเพื่อส่งออกส่วนใหญ่ของเกาหลีใต้อยู่ในกลุ่มอิเลคทรอนิคส์

ทางด้านธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ระบุในรายงาน “Asia Economic Monitor" เมื่อต้นเดือนธ.ค.ว่า ในสถานการณ์เลวร้ายที่สุด ซึ่งหมายถึงการที่เศรษฐกิจยุโรปและสหรัฐอยู่ในภาวะถดถอยรุนแรงและส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกดิ่งลงอย่างหนักใกล้เคียงกับปี 2552 นั้น เอดีบีคาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ในเอเชียตะวันออก ซึ่งรวมถึงจีน จะเติบโตเพียง 5.4% ซึ่งลดลง 1.8% จากประมาณการปัจจุบันที่ 7.2% โดยเอดีบีระบุว่า แม้ในสถานการณ์เลวร้ายสุดดังกล่าว เศรษฐกิจในตลาดเกิดใหม่ของเอเชียตะวันออกน่าจะทรุดหนัก แต่ก็ยังไม่รุนแรงเท่ากับผลกระทบที่เกิดในช่วงวิกฤติโลกปี 2551-2552 ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากภูมิภาคนี้ได้กระจายตลาดส่งออกที่หลากหลายมากขึ้น รวมทั้งการพึ่งพาอุปสงค์ภายในภูมิภาคเป็นปัจจัยหนึ่งที่หนุนการจริญเติบโต

“ละตินอเมริกา" นับเป็นภูมิภาคแห่งความหลากหลาย แต่ละประเทศมีความต่างกันทั้งในด้านขนาด, จำนวนประชากรและสภาพเศรษฐกิจ ละตินอเมริกามีประชากรรวมกันกว่า 600 ล้านคน ซึ่งมากกว่าครึ่งเป็นชาวเม็กซิกันและชาวบราซิล ขณะที่ 3 ประเทศหลัก ซึ่งได้แก่บราซิล, เม็กซิโกและอาร์เจนตินา มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) รวมกันคิดเป็นมูลค่ากว่า 70% ของทั้งภูมิภาค ซึ่งส่งผลให้รายได้ประชากรโดยรวมมีความแตกต่างกันอย่างมาก

การที่ละตินอเมริกามีสหรัฐเป็นประเทศคู่ค้าและนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าปัญหาขาดดุลงบประมาณและเศรษฐกิจในสหรัฐได้ส่งผลกระทบเต็มๆต่อภูมิภาคนี้ โดย ECLAC คาดว่าเศรษฐกิจของภูมิภาคละตินอเมริกาจะขยายตัวชะลอลงที่ 3.7% ในปี 2555 จาก 4.5% ในปีนี้ ขณะที่นางอลิเซีย บาร์เซนา เลขาธิการ ECLAC ระบุว่า ปัจจัยที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคให้ขยายตัวก็คือการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติและทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ แต่เตือนว่าหากวิกฤติหนี้สาธารณะยุโรปเลวร้ายลง ก็จะยิ่งส่งผลกระทบซ้ำเติมต่อภาพรวมเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้

ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศในภูมิภาคนี้พุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์สู่ระดับ 760 พันล้านดอลลาร์ โดยบราซิลและเม็กซิโกเป็น 2 ประเทศที่มีสัดส่วนทุนสำรองสูงสุด โดยนางบาร์เซนากล่าวว่า ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศที่ระดับสูงของบราซิลและเม็กซิโกนับเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยหนุนความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจภูมิภาค แต่สิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการก็คือการรักษาระดับการเจริญเติบโตและลดความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจของภูมิภาคให้ได้

“แอฟริกา" หรือกาฬทวีป..แว่บแรกที่เรามักจะนึกถึง คงหนีไม่พ้นภาพความยากจนและอดอยากยากแค้นสาหัสสากรรจ์ของชาวแอฟริกัน มิหนำซ้ำยังรวมถึงภาพไฟสงครามที่คุกรุ่นและเศษซากบ้านเรือนที่วอดวายจากการห้ำหั่นกันในสงครามกลางเมืองและสงครามล้างเผ่าพันธุ์ …แต่ในอีกด้านหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือแอฟริกาเป็นทวีปที่ร่ำรวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมากและยังไม่ได้มีการนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ทั้งทรัพยกรป่าไม้ที่มีจำนวนราว 1 ใน 6 ของพื้นที่ทวีป, ทรัพยากรแร่ธาตุที่สำคัญหลายชนิดทั้งทองคำและเพชร รวมถึงเหล็ก, ทองแดง, ดีบุกและอื่นๆ ซึ่งล้วนเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ, ทรัพยากรพลังงาน ซึ่งก็คือน้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ ที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไนจีเรีย, ลีเบียและอียิปต์ รวมทั้งถ่านหินในสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ และทรัยากรสัตว์ป่า ป่าแอฟริกามีสัตว์ป่าอาศัยอยู่อย่างชุกชุม ซึ่งแม้จะมีจำนวนลดลงเพราะถูกล่า แต่ก็ยังมีจำนวนมากเมื่อเทียบกับทวีปอื่นๆ โดยเฉพาะทางตอนกลางของทวีป นักลงทุนจึงมองว่า ตลาดเกิดใหม่ในแอฟริกาเปรียบเหมือนขุมเพชรขุมทองสำหรับการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการลงทุนต่อไป

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประเมินว่า ประเทศที่จะมีอัตราการเจริญเติบโตสูงสุดในช่วง 5 ปีนับจากนี้ไป (2554-2558) จะเป็นประเทศจากแอฟริกามากถึง 7 ใน 10 อันดับ นำโดยจีนและอินเดีย ซึ่งจะมีการขยายตัวที่ 9.5% และ 8.2% ตามลำดับ ตามด้วยเอธิโอเปีย, โมซัมบิกและแทนซาเนีย ที่ 8.1%, 7.7% และ 7.2% ตามลำดับ ส่วนสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ดคาดว่า อัตราการขยายตัวของกลุ่มประเทศในแอฟริกาใต้ในช่วง 20 ปีข้างหน้าจะอยู่ที่ระดับสูงกว่าจีนเล็กน้อย โดยสูงถึง 7% เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่อยู่ในภาวะยากจน จึงทำให้มีโอกาสที่จะเติบโตได้สูง

ทางด้าน “ตะวันออกกลาง" ซึ่งถูกจัดอยู่ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่กลุ่มเดียวกับแอฟริกา มีสถานภาพเป็นขุมพลังงานที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก เนื่องจากมีทรัพยากรน้ำมันดิบจำนวนมหาศาล จึงทำให้มีอำนาจในการต่อรองและมีอิทธิพลในการกำหนดทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ซึ่งน้ำมันก็จัดเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทหนึ่ง

ในช่วงปี 2554 ที่ผ่านมา ภูมิภาคตะวันออกกลางเผชิญความไม่สงบทางการเมืองที่บานปลายในหลายประเทศ ซึ่งไม่ใช่เป็นเพียงความวุ่นวายในระดับรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เป็นการลุกฮือของพลังประชาชนที่ไม่พอใจกับความยากจน คอร์รัปชัน และการถูกกดขี่ภายใต้การปกครองเผด็จการแบบผูกขาดมาเป็นเวลานาน และพลังดังกล่าวนับว่ามีอานุภาพมากพอที่จะจุดประกายให้เกิดการเปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์โลกครั้งสำคัญในการล้มล้างระบอบทรราชย์ที่หยั่งรากสั่งสมอำนาจบารมีในภูมิภาคดังกล่าวมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ จนทำให้นิตยสารไทม์ส ซึ่งเป็นนิตยสารที่ทรงอิทธิฉบับหนึ่งของโลก ได้ยกย่องให้ “กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วง" เป็น “บุคคลแห่งปี 2554" โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ประท้วงในตะวันออกกลาง หรือ “อาหรับ สปริง" อันนำมาสู่เสรีภาพและประชาธิปไตย ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนในภูมิภาคดังกล่าวแทบไม่เคยสัมผัสมาก่อน

แม้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะดูเป็น “ความรุนแรง" แต่ก็แฝงนัยสำคัญ โดยนักวิเคราะห์มองว่า มีพลวัตเกิดขึ้นในโลกอาหรับ มีรัฐบาลที่มีความชอบธรรมในสายตาของประชาชน ซึ่งจะมีบทบาทมากขึ้นต่อไป แนวโน้มดังกล่าวถือเป็นปัจจัยบวกต่อความมีเสถียรภาพทางการเมือง และเมื่อใดก็ตามที่สถานการณ์ทางการเมืองมีความมั่นคง ก็ย่อมเกื้อหนุนต่อเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการเมืองนับว่ามีส่วนสำคัญต่อปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ อันจะเห็นได้จากความล่าช้าในการคลี่คลายวิกฤติหนี้ยุโรปก็มีอุปสรรคสำคัญจากภาคการเมืองแทบทั้งสิ้น

“ยุโรปตะวันออก" อาจถือได้ว่าเป็นภูมิภาคที่มี “ภูมิคุ้มกัน"ต่ำที่สุด ท่ามกลางกระแสความสนใจของนักลงทุนที่มีต่อกลุ่มตลาดเกิดใหม่ในรอบนี้ เพราะแค่ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า ‘ยุโรป’ ซึ่งกำลังประสบปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะที่หนักหน่วง การที่มีสภาพภูมิศาสตร์ที่เป็นส่วนหนึ่งของยุโรป และเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ในยุโรปตะวันออกก็นับว่าอ่อนหัดเมื่อเทียบกับ “พี่ใหญ่" อย่างยุโรปตะวันตกอยู่แล้ว จนต้องพึ่งพากันมาโดยตลอด จึงเลี่ยงไม่ได้ที่ยุโรปตะวันออกจะพลอยอยู่ในภาวะเสี่ยงไปด้วย

เมื่อเดือนธ.ค.2554 ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) เตือนว่า วิกฤติหนี้ในยูโรโซนได้ส่งผลกระทบต่อตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุโรปตะวันออก เพราะนักลงทุนเริ่มถอนเงินทุนกลับประเทศเพื่อลดความเสี่ยงด้านการลงทุน โดยในช่วงเดือนส.ค.-ก.ย.2554 มีการถอนเงินกองทุนในตลาดเกิดใหม่กว่า 1.87 หมื่นล้านยูโร (2.5 พันหมื่นล้านดอลลาร์) และราคาหุ้นในตลาดเกิดใหม่ยังร่วงลงอย่างมากในช่วงดังกล่าว ซึ่งบ่งชี้ว่ามีการเทขายสินทรัพย์เสี่ยงเพื่อลดความผันผวนในพอร์ทการลงทุน นอกจากนี้ BIS ยังระบุว่าประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากปรากฏการณ์ช่วงขาลงนี้ก็คือยุโรปตะวันออก และธนาคารชั้นนำหลายรายในยุโรปต่างก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤติหนี้กรีซ และประกาศว่าจะลดการให้สินเชื่อใหม่ๆในภูมิภาค ทางด้านออสเตรียก็กำหนดกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นกับธนาคารภายในประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อให้แก่สาธารณรัฐเชค, ฮังการี, โรมาเนียและโครเอเชีย

ท่ามกลางกระแสวิกฤติเศรษฐกิจที่เชี่ยวกราก การพึ่งพาอุปสงค์ภายในประเทศ รวมถึงการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ นับเป็นเรื่องจำเป็นในการประคับประคองซึ่งกันและกัน แม้แต่พญามังกรอย่างจีนก็ยังต้องปรับกระบวนท่าด้านนโยบายให้หันมาเน้นการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดเกิดใหม่มากขึ้น เพื่อแก้สถานการณ์อุปสงค์ซบเซาจากกลุ่มประเทศร่ำรวยที่กำลังถูกรุมเร้าด้วยหลากปัญหา โดยจีนเล็งเป้าหมายไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ละตินอเมริกาและแอฟริกา ขณะที่กลุ่มตลาดเกิดใหม่อื่นๆต่างก็คาดหวังที่จะส่งออกไปยังจีน ซึ่งมีกำลังซื้อและการบริโภคสูงมากขึ้น เนื่องจากมีประชากรจำนวนมหาศาล การค้าระหว่างกลุ่มตลาดเกิดใหม่ด้วยกันนี้นับเป็น “ปราการ" อีกชั้นหนึ่งที่จะช่วยป้องกันเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศดังกล่าวไม่ให้ “ตกหล่ม" เศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน

เมื่อพิจารณาจากความท้าทายในเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่าไม่มีภูมิภาคใดที่ปลอดความเสี่ยงอย่างแท้จริง แม้กระทั่งกลุ่มตลาดเกิดใหม่เองก็ตาม แต่เมื่อเทียบกับภูมิภาคยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐและยุโรปแล้ว สถานภาพของตลาดเกิดใหม่ก็นับว่าดูดีขึ้นมาอย่างมาก และน่าจะมีความปลอดภัยมากกว่า เพราะอย่างน้อยที่สุดหนี้สินของภาครัฐบาลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ก็อยู่ที่ระดับต่ำ และทุนสำรองเงินตราต่างประเทศก็มากกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างมาก แต่ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด หากเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเข้าสู่ภาวะถดถอย ก็คงไม่อาจเลี่ยงได้ที่ตลาดเกิดใหม่ก็จะพลอยได้รับหางเลขไปด้วย ซึ่งหมายความว่าตลาดเกิดใหม่อาจจะไม่สามารถพยุงเศรษฐกิจโลกเอาไว้ได้ แต่อย่างน้อยที่สุดก็น่าจะพอที่จะประคองตัวเองให้อยู่รอดและฝ่ามรสุมวิกฤติเศรษฐกิจรอบนี้ไปได้!!!


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ