วงการฯเอ็กซ์เรย์ปีมังกรทอง มัน-อ้อย-ปาล์มรุ่งรับกระแสพลังงานทดแทน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 4, 2012 13:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ประธานคณะกรรมการธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แนวโน้มสินค้าเกษตรที่มีอนาคตสดใสในปี 55 คือสินค้าที่เกี่ยวกับพลังงานทดแทน เช่น มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด และปาล์มน้ำมัน ส่วนที่น่าเป็นห่วง คือ ยางพารา เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ไม่น่าจะโตมากนัก ขณะที่ข้าวถือว่าไม่รุ่งและก็ไม่ร่วง แม้ว่าแนวโน้มการส่งออกข้าวในปีหน้าจะลดลงจาก 10 ล้านตันในปีนี้ เหลือ 8.5 ล้านตัน

ด้านนายเสรี เด่นวรลักษณ์ นายกสมาคมการค้ามันสำปะหลัง กล่าวว่า ปี 55 จะเป็นปีทองส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังขยายการเติบโตได้ดี แนวโน้มตั้งเป้าไว้จะให้ถึง 6,710,00 ตัน เพิ่มขึ้น 9% มูลค่า 77,192 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.49% เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ บริษัท ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด ระบุจากพยากรณ์เศรษฐกิจโลกปี 2555 น่าจะชะลอตัวลงคาดว่าจะส่งผลถึงความต้องการยางพาราแน่นอน

*สินค้าเกษตรดาวรุ่งปีนี้

"อะไรที่เกี่ยวกับพลังงานทดแทนผมว่ายังดีอยู่นะ สำหรับมันสำปะหลัง จำนวนผลิตอาจจะเพิ่มไม่มาก แต่ผลผลิตที่ได้อาจจะถูกนำไปใช้ผลิตด้านพลังงานมากขึ้น เพราะความต้องการจากจีนยังมีเข้ามา ซึ่งจะดึงให้ราคาสูง คาดว่าปี 55 มันสำปะหลังน่าจะราคาดีที่สุด

อ้อย มองว่าปี 54 ดีมากเนื่องจากเกี่ยวโยงกับน้ำมันเหมือนกัน ความต้องการใช้ยังดีอยู่ทำให้เชื่อว่าราคาน่าจะยังดีเช่นกัน ปาล์มน้ำมันปี 54 ต้องยอมรับว่าเกิดภาวะ Shock ไปในบางช่วง แต่เชื่อว่าปี 55 น่าจะราบรื่นไม่น่าจะมีปัญหาอะไรเข้ามากระทบจนทำให้เกิดภาวะตึงตัวเหมือนอย่างปีก่อน

ส่วนสินค้ายางพาราสาเหตุที่มองว่าน่าเป็นห่วงเนื่องจากความต้องการใช้ยางพาราในจีนปีหน้าจ่อลดลงต่อเนื่องจากปีที่แล้ว หลังยอดขายรถยนต์ชะลอลง อาจทำให้ราคายางพาราในตลาดโลกลดลงต่อเนื่อง ความต้องการใช้ยางจะมากหรือน้อย มันถูกเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมยานยนต์ จากปัญหาเศรษฐกิจโลกน่าจะยังส่งผลกระทบต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกต่อไปอีกระยะหนึ่ง

ข้าว ติดที่นโยบายรับจำนำ อาจจะทำให้ส่งออกมีปัญหา เพราะการตั้งราคารับจำนำไว้สูง จะทำให้ราคาภายในประเทศสูงคนที่จะได้ประโยชน์คือเกษตรกร แต่ผู้ส่งออกคงจะลำบาก เพราะราคาส่งออกจะสูงขึ้น ซึ่งตรงนี้จะทำให้เราแข่งขันกับคู่แข่งลำบากยิ่งเวลานี้เรามีคู่แข่งรายใหม่คืออินเดียเข้ามาแย่งชิงตลาดด้วย นอกเหนือจากเวียดนามที่เบียดเราอยู่ตลอดเวลา"

*ปัจจัยเสี่ยงต่อสินค้าเกษตร

"อันดับแรกคือภาวะเศรษฐกิจยุโรปและสหรัฐยังไม่ดี ยิ่งปีหน้าสหรัฐจะมีเลือกตั้งใหญ่ อาจจะยังไม่มีนโยบายอะไรที่ตื่นเต้นออกมา เพราะภาพที่ออกมาส่วนใหญ่คงจะเน้นไปที่การหาเสียงเป็นสำคัญ ปัญหานี้สาธารณะของยุโรปก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างชัดเจนซึ่งน่าจะยังอึมครึมต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า

อัตราแลกเปลี่ยน มองว่าปีหน้าค่าเงินบาทน่าจะแข็งค่าแต่ไม่น่าจะหลุดระดับ 30 บาท/ดอลลาร์ หรือไม่ก็อาจจะหลุดระดับ 30 บาท/ดอลลาร์ลงมาเล็กน้อย เนื่องจากค่าเงินยูโรปยังอ่อนค่าค่าเงินบาทก็จะแข็งค่าขึ้น แต่ปัญหานี้ผู้ส่งออกน่าจะปรับตัวได้แล้ว

เงินเฟ้อ อาจจะมีบ้างเพราะรัฐบาลพยายามกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้น ดอกเบี้ยก็คงจะลด เงินบาทก็คงจะอยู่ในตลาดมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็เฝ้าระวังกันอยู่แล้ว"

*ปัจจัยสนับสนุนสินค้าเกษตร

"คือการใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้น การลงทุนมีมากขึ้น การหมุนเวียนของเงินในตลาดมากขึ้น อาจจะหนุนให้ความต้องการใช้สินค้าต่างๆ รวมทั้งสินค้าเกษตรเพื่อการผลิตและจำหน่ายมีมากขึ้น มองว่าปีนี้ Consumption ในประเทศจะดี เพราะรัฐบาลคงลงทุนเยอะ ยิ่งถ้ามีการฟื้นฟูมากขึ้น การลงทุนในประเทศก็จขะมากขึ้น การค้าขายในประเทศก็จะดี เพราะฉะนั้นต้อง Control เงินเฟ้อให้อยู่

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าราคาสินค้าไม่น่าจะแพงกว่าปีที่แล้วมากนัก เพื่อไม่ให้เงินเฟ้อมากจนเกินไป แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือปัญหาการเมือง โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูยที่เป็นประเด็นกันอยู่ในตอนนี้

นอกจากนี้ ผลสำรวจจากสถาบันต่างๆที่ออกมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคะแนนการบริหารจัดการน้ำ คะแนนการบริหารประเทศน่าจะเป็นข้อเสนอแนะที่ดีให้รัฐบาลนำไปปรับปรุงแก้ไขการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน

*มันสำปะหลังโดดเด่นในปีทอง

นายเสรี เด่นวรลักษณ์ นายกสมาคมการค้ามันสำปะหลัง กล่าวว่า"ขณะนี้เกษตรกรทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตมันสำปะหลังออกมาแล้ว 20% ของปริมาณทั้งหมดปีการผลิต 2554/2555 โดยตลอดทั้งปีจะมีราว 25 ล้านตันหัวมันสด แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการที่มีถึงปีละ 35 ล้านตัน เพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่อเนื่องหลากหลายชนิด อาทิ พลังงานทดแทน แป้งมันสำปะหลัง

ตลาดส่งออกยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจีนนำมันสำปะหลังเส้นไปผลิตเป็นแอลกอฮอล์ ขณะที่ตลาดในประเทศ จากการที่รัฐบาลไทยประกาศปีหน้าจะยกเลิกใช้เบนซิน 91 อุตสาหกรรมผลิตเอทานอลต้องการใช้วัตถุดิบจากมันสำปะหลังเพิ่มอีก 1-2 ล้านตัน เพราะมีกากน้ำตาลไม่เพียงพอ

อนาคตยังเป็นห่วงเรื่องปริมาณมีไม่เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้น จึงขอให้รัฐบาลช่วยลดอุปสรรคเรื่องค่าธรรมเนียมนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน เช่น กัมพูชา ปีละ 5-6 ล้านตันลาวและพม่าเริ่มปลูกมากขึ้น เพื่อให้ไทยใช้ประโยชน์จากการลดภาษีนำเข้าเป็น0% ตามกรอบความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน และเป็นฐานการผลิตหลังรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปี 2558

ทั้งนี้ รัฐบาลควรบริหารจัดการผลผลิตส่งเสริมชาวไร่ วางแผนการผลิต และขุดหัวมันเพื่อไม่ให้ซัพพลายออกมาสู่ตลาดมากเกินไปจนราคาตก และสนับสนุนเกษตรกรพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตเช่น โครงการ 1 ไร่ 1 แสน ใช้พื้นที่น้อยปลูกพืชครบวงจรสร้างรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนแผนระยะยาวรัฐบาลอาจต้องลงทุนตั้งโรงงานผลิตเคมีชีวภาพพลาสติกชีวภาพที่ใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบเพื่อยกระดับราคาผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ตลอดจนการวางแนวทางให้ไทยเป็นผู้กำหนดราคามันสำปะหลังในตลาดโลก โดยเร่งพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทยให้เติบโตเข้มแข็ง

*ยางพาราไม่สดใสตามเศรษฐกิจโลกชะลอ แต่ยังไม่ถึงกับหัวทิ่ม

ขณะที่นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจบริษัท ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด กล่าวว่า "ในภาพรวมบอกไม่ได้หรอกว่าราคาจะขึ้นหรือจะลง แต่ถ้าเอาพยากรณ์เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงเป็นตัวตั้ง ความต้องการสินค้าก็ต้องชะลอตัวลงตามไปด้วย....เราก็ต้องชะลอการผลิตให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ราคาก็จะมีความสมเหตุสมผลสอดคล้องกับภาวะตลาด

ทั้งนี้ ช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม เป็นช่วงยางผลัดใบยางจะออกน้อย ราคาจะสูงเป็นปกติ แต่พอเข้าหน้าฝนยางจะออกมาก ถ้าไม่มีการบริหารจัดการราคาก็จะอ่อนตัวลง แต่ถ้าบริหารจัดการดีๆ คือ ชะลอการขายให้สอดคล้องกับราคา ราคายางก็จะไม่ตก

แต่หากยุโรปสามารถฟื้นตัวได้ในไตรมาสที่ 2 และ ไตรมาสที่ 3 ราคายางก็อาจจะปรับตัวขึ้นได้ ที่สำคัญคือจีนคงไม่ยอมให้เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวลงมาก คงจะมีนโยบายด้านการเงินการคลังออกมากระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการลงบทุนการบริโภคให้ต่อเนื่อง เพื่อให้เศรษฐกิจจีนในปีมังกรทองเติบโตไม่ต่ำกว่า 8-9% ถ้าเป็นแบบนี้ความต้องการใช้ยางในปีนี้น่าจะยังมี เพราะจีนเป็นผู้ใช้ยางรายใหญ่ของโลก เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ส่งออกยางล้อรายใหญ่ของโลก

ตราบใดที่จีน อินเดีย รัสเซีย บราซิล แอฟริกา ประเทศเหล่านี้ยังไม่มีปัญหาผมก็ไม่เป็นห่วง เพียงแต่การเก็งกำไรในตลาดซื้อขายล่วงหน้าอาจจะทำให้ราคายางผันผวนแต่คงจะผันผวนน้อยลงกว่าปีก่อน เพราะรัฐบาลของยุโรปและสหรัฐอเมริกาคงจะมีการควบคุมการซื้อขายเงินตราในตลาดล่วงหน้ามากขึ้น หลังจากเห็นแล้วว่าการเก็งกำไรกันมากเกินไปไม่เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ

ดังนั้น โดยสรุปยังเชื่อมั่นว่าปีฯราคายางไม่มีปัญหา ถ้าจะปรับตัวลงก็ไม่มากตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว แต่ไม่มีทางที่จะหัวทิ่มลงไปแน่นอน"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ