ครม.อนุมัติหลักการออกกฎหมายการเงิน 4 ฉบับ รอหารือทบทวนรูปแบบการออก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 4, 2012 18:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบในหลักการเรื่องการออกกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน 4 ฉบับ โดยมอบหมายให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ไปหารือในรายละเอียดกับนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง เนื่องจากพบข้อขัดข้องในเรื่องของข้อกฎหมายว่าจะตราเป็นกฎหมายในรูปแบบใด ส่วนเนื้อหานั้นยังคงเดิมทั้ง 4 ฉบับ

นายกิตติรัตน์ แถลงในช่วงเย็นวันนี้ว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการร่างกฎหมาย 4 ฉบับ ประกอบด้วย 1.ร่างกฎหมายการลงทุนบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเป็นฉบับที่ต้องมีความเร่งด่วนและใช้งบประมาณสูง คาดว่าต้องใช้งบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท

2.ร่างกฎหมายการจัดตั้งกองทุนประกันภัยให้แก่ผู้ประกอบการที่ลงทุนในประเทศ วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท 3.ร่างกฎหมายจัดการภาระหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 4.ร่างกฎหมายการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ออกเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการ โดยธปท.จะทำหน้าที่ในการจัดหาเงินกู้ 70% ส่วนที่เหลืออีก 30% เป็นหน้าที่ของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ โดยวงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่ 3 แสนล้านบาท

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า สำหรับการจัดการภาระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ วงเงิน 1.14 ล้านล้านบาทนั้น ยอดหนี้ดังกล่าวเกิดจากการกู้มาเพื่อแก้ปัญหาระบบสถาบันการเงินในปี 2540 โดยกำหนดให้เป็นภาระที่กระทรวงการคลังต้องชำระดอกเบี้ยปีละ 6.5 หมื่นล้านบาท ส่วน ธปท.มีหน้าที่ดูแลภาระเงินต้น ซึ่งจำเป็นต้องแก้กฎหมายเพื่อให้มีการจัดการกับปัญหาหนี้ดังกล่าวอย่างเหมาะสม

"การแก้กฏหมายก็เพื่อให้ ธปท.สามารถเก็บค่าธรรมเนียมจากสถาบันการเงินที่รับฝากเงิน เป็นอัตราร้อยละของยอดเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครอง" นายกิตติรัตน์ กล่าว

ทั้งนี้ การออกกฎหมายจะรองรับแนวทางที่จะทำให้ ธปท.มีเงินไปชำระเงินต้นและดอกเบี้ยได้ แต่ต้องไม่เกิน 15% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังเป็นผู้ชำระเฉพาะในส่วนของดอกเบี้ยอยู่ภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 55 อยู่ที่ 2.38 ล้านล้านบาท ดังนั้น ยอดเงินต้นและดอกเบี้ยที่รวมกัน 15% จะต้องไม่เกิน 3.6 แสนล้านบาท/ปี ซึ่งการจ่ายชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขไม่ทำให้เสียวินัยการคลัง

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า กฎหมายทั้ง 4 ฉบับนี้ ถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนเพื่อสร้างความเชื่อมั่น แต่จากวิธีการทั้งหมดนี้ยืนยันว่าจะไม่มีการพิมพ์ธนบัตรเพิ่ม และจะไม่เข้าไปแตะต้องทุนสำรองระหว่างประเทศ และจะไม่กระทบต่อภาระหนี้สาธารณะของประเทศ

"ร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับ จะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาดูร่างก่อนดำเนินการ แต่ต้องเร็ว เพราะงบ 3.5 แสนล้านบาทที่ใช้ลงทุนเรื่องบริหารจัดการน้ำจะต้องเริ่มได้เร็วก่อนที่หน้าฝนจะมาถึง...ต่างประเทศจ้องดูอยู่ และเป็นห่วง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นที่ผ่านมาได้สร้างความเสียหายไม่น้อย"นายกิตติรัตน์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ