นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค(CCI)ว่า กระทรวงพาณิชย์ได้แถลงดัชนีดังกล่าวครั้งแรกอย่างเป็นทางการ หลังจากที่จัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคมาตั้งแต่ปี 43 ทั้งนี้เพื่อให้รัฐบาลมีข้อมูลในการประเมินภาวะเศรษฐกิจและสังเกตการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจได้ล่วงหน้า
ขณะเดียวกันยังให้นักธุรกิจมีข้อมูลวางแผนการผลิต การลงทุน การจำหน่ายและส่งเสริมการขาย และให้ประชาชนวางแผนการจับจ่ายใช้สอย การออม และทราบโอกาสในการหางานทำ โดยยืนยันว่าไม่ได้จัดทำเพื่อแข่งขันกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยที่มีการแถลงผลสำรวจดัชนีดังกล่าวเป็นประจำทุกเดือน
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ธ.ค.54 ที่ผ่านมา พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม อยู่ที่ 21.4 เป็นการปรับตัวดีขึ้น หลังจากที่ดัชนีลดลงอย่างต่อเนื่องหลังเกิดน้ำท่วมใหญ่ในเดือน ก.ย.-พ.ย.54 โดยดัชนีในเดือนก.ย.อยู่ที่ 29.6 และลดลงเหลือ 23.8 ในเดือนต.ค. และเหลือ 18.5 ในเดือนพ.ย. ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตอยู่ที่ 27.9
"ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมในเดือนธ.ค. ปรับตัวดีขึ้น แสดงว่าประชาชนมีความหวังและมีความเชื่อมั่นมากขึ้น หลังจากผ่านวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ และรัฐบาลมีมาตรการต่างๆ ช่วยเหลือเยียวยา รวมถึงมีมาตรการดูแลน้ำท่วมในระยะยาว แต่ค่าดัชนีที่เท่ากับ 21.4 หรือยังไม่ถึงครึ่งของเกณฑ์ปกติที่ 100 แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความเชื่อมั่นมากนัก ส่วนดัชนีในเดือนม.ค.55 คาดจะปรับตัวดีขึ้น หลังการขึ้นเงินเดือนข้าราชการ นโยบายรับจำนำทำให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น" นายยรรยงกล่าว
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ ในเดือนธ.ค.54 ในส่วนของสถานการณ์ทั่วไปทางเศรษฐกิจและธุรกิจในปัจจุบัน ดัชนีอยู่ที่ 13.4 สถานการณ์ทั่วไปของเศรษฐกิจและธุรกิจในอนาคต 29.8 รายได้ในอนาคตในช่วง 3 เดือนข้างหน้า 43.2 โอกาสในการหางานทำในปัจจุบัน 10.1 และโอกาสในการหางานทำในอนาคต 10.8 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบัน 56.5 การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในอนาคต 56.1 การวางแผนซื้อรถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า 8.8 และการวางแผนซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าคงทนต่างๆ ยกเว้นบ้านและรถยนต์ 18
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ดัชนีที่กระทรวงพาณิชย์จัดทำจะมีความเที่ยงตรง แม่นยำ เพราะสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างประชาชนทั่วประเทศ 3,250 ตัวอย่าง แยกเป็นกรุงเทพฯ และปริมณฑล 12.6% ต่างจังหวัด 87.4% ใช้ค่าดัชนีระหว่าง 0-100 ถามคำถามเกี่ยวกับคาดการณ์ทางด้านเศรษฐกิจ การหางานและรายได้ในช่วง 3 เดือนข้างหน้า
ขณะที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สำรวจจาก 2,258 ตัวอย่าง แบ่งเป็น กรุงเทพฯ-ปริมณฑล 40.2% และต่างจังหวัด 59.8% ใช้ค่าดัชนี 0-200 ถามคำถามอนาคตในอีก 6 เดือนข้างหน้า