ชาวสวนรวบรวมน้ำยาง 14 จ.ภาคใต้บุกกรุงร้องนายกฯแก้ราคาตกต่ำพรุ่งนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 9, 2012 11:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชยันต์ สังขไพฑูรย์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดสงขลา ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายชาวสวนยางภาคใต้ เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (10 ม.ค.) เครือข่ายชาวสวนยาง 14 จังหวัดภาคใต้ นัดรวมพลนำรถบรรทุกน้ำยางสด 20 คันเข้ากรุงเทพมหานคร เพื่อไปขอความช่วยเหลือจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่บ้านพักให้ช่วยแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำที่เกิดขึ้นกว่า 3 เดือน

ปัจจุบัน ราคายางปรับตัวลดลงมาเหลือกิโลกรัมละ 80-90 บาท จากเดิมเคยอยู่ที่กิโลกรัมละ 120 บาท รวมถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้นำบริษัทเอกชนไปทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับจีนปริมาณ 180,000 ตัน โดยล็อคราคาเอฟโอบี 105 บาท/กิโลกรัม ทำให้พ่อค้ากดราคารับซื้อยางจากเกษตรกรอีกต่อหนึ่ง

ด้านนายหลักชัย กิตติพล ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ไทยฮั้วยางพารา กล่าวว่า เห็นด้วยที่ราคาน้ำยางตอนนี้ถูกมาก แต่ยางแผ่น ยางก้อนถ้วย ราคายังยืนอยู่แถวๆ 89-90 บาท/กก. วิธีแก้ก็คือแทนที่เกษตรกรจะเก็บน้ำยางเอาไว้ขาย ก็ควรแปรสภาพให้เป็นยางแผ่นหรือยางก้อนถ้วยน่าจะขายได้ราคาดีกว่า และยังสามารถเก็บรักษาได้นานกว่าน้ำยาง

ทั้งนี้ เกษตรกรควรจะต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาราคายางตกตามกลไกตลาด ตามสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลกระทบถึงอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ทั่วโลก จนกระทบกระเทือนถึงความต้องการใช้ยางหายไป โดยเฉพาะจากจีน ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าราคายางกำลังจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นนับจากนี้ เนื่องจากยางทางภาคตะวันออกและตะวันออกเฉียงใบเริ่มร่วงแล้ว โดยกำลังจะเข้าสู่ฤดูกาลยางผลัดใบ คงจะเหลือแต่ยางภาคใต้ที่ยังกรีดได้ แต่อีกสักพักยางทางใต้ก็จะเข้าสู่ช่วงปิดหน้ายางเหมือนกันกินระยะเวลานานประมาณ 2-3 เดือน

"ราคาจะค่อยๆดีขึ้นแล้วเพราะ ทางภาคตะวันออกกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือใบร่วงหมดแล้ว หยุดกรีดแล้ว ภาคใต้อีกไม่นานก็จะเข้าสู่ช่วงผลัดใบเหมือนกัน ยางก็จะหายไปจากตลาดระยะนึง ราคาก็น่าจะดีขึ้น"นายหลักชัย กล่าวกับอินโฟเควสท์

ส่วนเรื่องที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำบริษัทเอกชน ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจากจีน 180,000 ตัน ล็อคราคาเอฟโอบี 105 บาท/กก. มองว่าน่าจะเป็นเรื่องที่ดีต่ออุตสาหกรรมยางไทย เป็นการสร้างความเชื่อมั่นเรื่องยางไทยให้กับผู้ซื้อ

สำหรับเรื่องม็อบชาวสวนยางจะมีปัจจัยอื่นแอบแฝงหรือไม่ เช่น ปัญหาการเมือง เรื่องนี้ตนไม่ขอแสดงความเห็น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ