นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)เปิดเผยว่า การที่รัฐบาลเตรียมกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทภายใต้ พ.ร.ก.การเงินในการนำไปใช้บริหารจัดการน้ำระยะยาวจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ 40% เป็น 45-47% ขึ้นอยู่กับการออกพันธบัตรการกู้เงิน แต่ไม่ได้กระทบความเชื่อมั่นเนื่องจากหนี้สาธารณะไม่ได้อยู่ในระดับที่สูง
สำหรับการกู้เงินดังกล่าวจะดำเนินการเช่นเดียวกับการกู้เงินในโครงการไทยเข้มแข็ง ซึ่งการกู้เงินขึ้นอยู่กับจังหวะการเบิกจ่ายเงินในแต่ละโครงการ จึงอาจจะเป็นการกู้เงินจากสถาบันการเงินในลักษณะ Term Loan และจะมีการ Roll Over เป็นเงินกู้ระยะยาวภายหลัง หากจะออกเป็นพันธบัตรรัฐบาลขณะนี้มีต้นทุนที่ต่ำกว่าโครงการไทยเข็มแข็ง ซึ่งพันธบัตรอายุ 10 ปี ปัจจุบันดอกเบี้ยอยู่ที่ 3.2% จากพันธบัตรไทยเข้มแข็งดอกเบี้อยู่ที่ 4%
"การกู้เงินต้องดูจังหวะการเบิกจ่าย ก็จะใช้เป็น bank loan ตั้งไว้ก่อน เพราะเราไม่รู้การเบิกจ่ายของ พ.ร.ก.จะออกมาอย่างไร"นายนายจักรกฤศฏิ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีพันธบัตรรัฐบาลที่ออกไปแล้ว และมีกำหนดชำระคืนมีอายุสูงสุดที่ 16 ปี แต่หลังการออก พ.ร.ก.กู้เงินอีก 3.5 แสนล้านบาท คาดว่าภาระการชำระหนี้ได้ทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 30 ปี
ผู้อำนวยการ สบน. กล่าวถึงปัญหาการโอนภาระหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน วงเงิน 1.14 ล้านล้านบาทให้ธนาคารแห่งประเทศไทยว่า หาก ธปท.มีรายได้ปีละ 70,000-78,000 ล้านบาท เพื่อนำมาชำระหนี้เงินต้น 30,000 ล้านบาท และดอกเบี้ย 40,000-45,000 ล้านบาท ก็จะทำให้ภาระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯชำระคืนภาระหนี้ได้หมดภายในเวลา 18 ปีเท่านั้น
ทั้งนี้ หากประเมินความสามารถในการหารายได้ตามกฎหมาย ธปท.สามารถเก็บค่าธรรมเนียมจากธนาคารพาณิชย์ 1% ของยอดเงินฝาก ปัจจุบันสถาบันคุ้มครองเงินฝากจัดเก็บค่าธรรมเนียม 0.4% ธปท.จึงเหลือช่องที่จะเก็บได้อีก 0.6% เพื่อนำมาชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ นอกจากนี้หาก ธปท.สามารถบริหารจัดการในบัญชีผลประโยชน์ให้เกิดผลกำไรก็นำมาชำระคืนเงินต้นได้ โดยทั้งหมดจะไม่มีการพิมพ์ธนบัตรและไม่แตะทุนสำรองเงินตรา
"ในวันพรุ่งนี้ที่จะมีมติ ครม.และกฎหมายออกมาก็จะเป็นการเริ่มต้นและสิ้นสุดของภาระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯว่าหนี้จะลดลงอย่างไร ใครรับภาระหนี้ แต่ถ้ารัฐบาลไม่ทำอะไรก็จะเป็นอย่างที่เห็น ทุกปีมีภาระดอกเบี้ย 50,000 ล้านบาท โดยไม่ได้ชำระเงินต้น...รัฐบาลมีทางออกที่จะกู้เงินเพิ่มก็ได้ แต่ก็เป็นภาระงบประมาณ" ผู้อำนวยการ สบน. กล่าว
ในวันพรุ่งนี้ (10 ม.ค.55) สบน.คงต้องชะลอการ pre funding หนี้กองทุนฟื้นฟูฯที่ครบกำหนดชำระ จำนวน 8,000 ล้านบาท และในวันที่ 18 ม.ค.ครบกำหนดอีก 16,000 ล้านบาท เพื่อรอความชัดเจนเกี่ยวกับการโอนภาระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ และคาดว่าจะดำเนินการได้ภายในเดือน ก.พ.55