(เพิ่มเติม) รมว.คลัง ยันเก็บเงินนำส่งเพิ่มแก้หนี้กองทุนฟื้นฟูไม่เป็นภาระแบงก์มากเกินไป

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 10, 2012 15:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง กล่าวในการแถลงข่าวร่วมกับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ว่า แนวทางการเปิดโอกาสให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เรียกเก็บเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเพิ่มเติมเพื่อนำมาแก้ไขปัญหาหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จะไม่เป็นภาระกับสถาบันการเงินมากเกินไป

สำหรับแนวทางดังกล่าวเป็นไปตามการร่าง พ.ร.ก.การเงินเพื่อให้มีการโอนภาระการชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ให้ธปท.เป็นผู้จัดการ ซึ่งเป็นการเพิ่มเติมจากกฎหมายเดิมที่กำหนดให้ ธปท.นำกำไรในสัดส่วน 90% มาใช้ , รายได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศส่วนหนึ่ง

ขณะที่ส่วนที่เพิ่มขึ้นมาคือ เรียกเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเพิ่ม แต่อัตราเมื่อรวมกับเงินนำส่งเข้าสถาบันคุ้มครองเงินฝาก จะต้องไม่เกิน 1% ของเงินฝาก ซึ่งจะทำให้กองทุนฟื้นฟูมรายได้และสามารถชำระดอกเบี้ยในแต่ลปีโดยไม่ต้องเป็นภาระงบประมาณอีก และยังจะมีเงินเหลือสามารถทยอยชำระเงินต้น โดยไม่ให้เป็นภาระกับระบบสถาบันการเงินมากจนเกินไป

นายธีระชัย กล่าวว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นสาระด้านหนึ่งของ พ.ร.ก.การเงินที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในวันนี้ ซึ่งเป็น พ.ร.ก.เพื่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว ประกอบด้วย การลงทุนระบบบริหารจัดการน้ำงบประมาณ 350,000 ล้านบาท , การจัดตั้งกองทุนประกันภัยให้กับผู้ประกอบการที่ลงทุนภายในประเทศ 50,000 ล้านบาท, การปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนฟื้นฟูฯ และให้ธปท.ออกเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการ 300,000 ล้านบาท

"กฎหมายทั้ง 4 ฉบับเป็นกฎหมายที่สำคัญอันดับต้น โดยเฉพาะฉบับที่เกี่ยวกับหนี้ของกองทุนฟื้นฟู ซึ่งไม่ใช่ว่ารัฐบาลพยายามจะโอนหนี้ของรัฐบาลไปเป็นหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หลักการคือบริหารจัดการหนี้ซึ่งค้างมานาน และที่ผ่านมากระบวนการในการลดต้น ให้หนี้มีการชำระอย่างจริงจังเกิดขึ้นน้อยมาก หากปล่อยทิ้งไว้รังแต่จะเป็นปัญหาต่อความเชื่อมั่นต่อการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ"นายธีระชัย กล่าว

รมว.คลัง กล่าวอีกว่า ปัจจุบันประเทศมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องใช้เงินในการฟื้นฟูประเทศ ดังนั้นจะต้องแก้ไขในส่วนของภาระงบประมาณที่จะต้องนำไปชำระดอกเบี้ยให้กับกองทุนฟื้นฟูฯ โดยปีงบประมาณที่ผ่านมากำหนดไว้ในวงเงินงบประมาณรายจ่ายถึงกว่า 6 หมื่นกว่าล้านบาท และที่ผ่านมานำภาษีประชาชนไปชำระแล้วกว่า 6.7 แสนล้านบาท จึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องแก้ปัญหาหนี้แบบครบวงจร

ขณะที่แนวทางที่กำหนดไว้ในกฎหมายเดิมให้นำเงินกำไรของธปท.มาชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯนั้น ยังเป็นไปได้ยาก เพราะธปท.ยังมีขาดทุนสะสมจำนวนมาก ส่วนการนำรายได้ที่เกิดจากบริหารประโยชน์ทุนสำรองฯ นั้น ขึ้นอยู่กับความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทเป็นหลัก ซึ่งในปีนี้คาดว่า ธปท.อาจจะมีรายรับในส่วนนี้กว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากมีการเรียกเก็บเงินนำส่งเพิ่มก็จะนำมาสมทบกับส่วนนี้ได้

ด้านนายกิตติรัตน์ กล่าวว่า อาจเป็นไปได้ที่จะเรียกเก็บเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเข้ากองทุนประกันเงินฝากลดลงจากปัจจุบันที่เก็บอยู่ 0.4% ของเงินฝาก ในช่วงที่เรียกเก็บเงินมาชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น ซึ่งขึ้นกับมุมมองของธปท.และผู้บริการสถาบันประกันเงินฝากต่อเรื่องดังกล่าว

นายธีระชัย กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้หารือกับธปท.ในการจัดทำแผนบริหารจัดการหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งในเบื้องต้นมีแนวคิดว่าอาจจะชำระคืนเงินต้นทั้งหมดภายใน 25 ปี เพื่อไม่ให้ต้องเร่งเรียกเก็บเงินนำส่งในอัตราที่สูงเกินไป ดังนั้น คงต้องให้เวลาธปท.ในการศึกษาเรื่องดังกล่าวก่อน และในอนาคตเป็นไปได้ที่กองทุนฟื้นฟูฯจะสามารถออกพันธบัตรได้ด้วยตัวเอง หากตลาดการเงินมีความเชื่อมั่นต่อแหล่งที่มาของเงินรายได้ที่เข้ามา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ