ศูนย์วิจัยกสิกรฯคาดส่งออกข้าวปี 55 แนวโน้มลดลง เหตุราคาสูง-แข่งขันรุนแรง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 10, 2012 16:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ปัจจัยสำคัญในการกำหนดราคาข้าวในประเทศขึ้นกับว่าการดำเนินมาตรการรับจำนำข้าวนาปรังต่อเนื่องหรือไม่ โดยถ้ารัฐบาลดำเนินมาตรการรับจำนำข้าวนาปรัง คาดว่าราคาข้าวในประเทศจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง แต่ถ้ารัฐบาลไม่ดำเนินมาตรการรับจำนำข้าวนาปรัง ในขณะที่ปริมาณข้าวนาปรังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จากการปลูกทดแทนข้าวนาปีส่วนที่ได้รับความเสียหายจากภาวะน้ำท่วม และการส่งเสริมให้ปลูกข้าวนาปรังรอบ 2 ของรัฐบาล ราคาข้าวในประเทศอาจกลับมาเคลื่อนไหวตามราคาในตลาดโลก ที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากการที่ผลผลิตข้าวของประเทศผู้ส่งออกข้าวสำคัญทยอยออกสู่ตลาด โดยเฉพาะเวียดนาม

ทั้งนี้ปริมาณการผลิตข้าวนาปรังปี 2555 อาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 12-16 ล้านตันข้าวเปลือกจากเดิมที่คาดไว้ว่าจะมีปริมาณการผลิต 10.14 ล้านตันข้าวเปลือก เนื่องจากชาวนาจะปลูกชดเชยข้าวที่เสียหายจากน้ำท่วมในช่วงปลายปี 2554 รวมทั้งในปี 2555 กระทรวงเกษตรฯจะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวนาปรังเพิ่มเป็น 2 รอบ เนื่องจากปริมาณน้ำเพียงพอ เพื่อทดแทนปริมาณข้าวที่หายไปจากอุทกภัยไปประมาณ 6-7 ล้านตันข้าวเปลือก ทั้งนี้ ปริมาณข้าวนาปีผลผลิตจะเหลือประมาณ 18-19 ล้านตันข้าวเปลือก เมื่อรวมกับผลผลิตข้าวนาปรังที่คาดว่าจะออกสู่ตลาดในช่วงกลางปี 2555 แล้ว ปริมาณผลผลิตข้าวในปี 2555 จะอยู่ในระดับ 30-35 ล้านตันข้าวเปลือก

"ประเด็นที่จะต้องติดตาม คือ หลังจากมาตรการจำนำราคาข้าวนาปีสิ้นสุดลงในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 แล้ว ต้องติดตามว่ารัฐบาลจะมีมาตรการรับจำนำข้าวนาปรังต่อเนื่องหรือไม่ เนื่องจากจะมีผลต่อราคาข้าวในประเทศและสถานะการแข่งขันในการส่งออกข้าว กล่าวคือ ถ้ารัฐบาลดำเนินมาตรการรับจำนำข้าวนาปรัง จะส่งผลให้ราคาข้าวในประเทศยังมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง แต่ถ้ารัฐบาลไม่ดำเนินมาตรการรับจำนำข้าวนาปรัง ราคาข้าวน่าจะกลับมาเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดโลก โดยขึ้นอยู่กับปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาด และการแข่งขันในตลาดต่างประเทศเป็นสำคัญ" เอกสารศูนย์วิจัยฯ ระบุ

นอกจากนี้ ประเด็นที่ต้องติดตาม คือ นโยบายการส่งออกข้าวสำหรับในปี 2555 ของอินเดีย(อินเดียเริ่มปีงบประมาณในเดือนเมษายน) ซึ่งถ้าอินเดียยังคงส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น ก็จะเป็นปัจจัยที่กดดันราคาข้าวในตลาดโลกต่อไป ซึ่งคาดว่าจะประกาศในช่วงไตรมาสแรกของปี 2555 ซึ่งมีผลอย่างมากต่อการส่งออกข้าวนึ่งของไทยในปี 2555

สำหรับในประเด็นการแข่งขันในการส่งออกนั้น คาดว่าการแข่งขันกับเวียดนามจะมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากมีการคาดหมายว่าข้าวของเวียดนามจะออกสู่ตลาดมากในเดือนมีนาคม 2555 ซึ่งล่าช้ากว่าปีปกติประมาณ 1 เดือน ส่งผลให้การแข่งขันในการส่งออกจะรุนแรงในช่วงไตรมาส 2/2555 ส่วนการแข่งขันกับอินเดียก็มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากคาดหมายว่าผลผลิตข้าวของอินเดียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อินเดียสามารถส่งออกข้าวได้เพิ่ม

อย่างไรก็ตาม การส่งออกข้าวปี 2555 มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่งมาก เนื่องจากโครงการรับจำนำ ประเทศอินเดียเริ่มกลับมาส่งออกข้าวได้อีกทั้งราคาข้าวอินเดียโดยเฉลี่ยราคาถูกกว่าข้าวไทยถึง 130-170 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตันเทียบกับข้าวในเกรดเดียวกัน ส่วนข้าวนึ่งหลายประเทศก็หันไปซื้อข้าวนึ่งของอินเดียเพราะราคาถูกกว่าข้าวนึ่งไทยประมาณ 120 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ขณะที่อินเดียส่งออกข้าวนึ่งอยู่ที่ 450 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ส่วนไทยส่งออกข้าวนึ่งในราคา 573 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ด้านราคาข้าวขาว 5%อินเดียส่งออกในราคา 435 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน เวียดนามส่งออกในราคา 450 ดอลาร์สหรัฐฯ/ตัน ส่วนไทยส่งออกในราคา 567 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน สำหรับข้าวหอมมะลิไทยยังคงมีโอกาสสูงได้บ้างราคาส่งออกอยู่ที่ 1,100 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน แต่ผู้ส่งออกคาดว่าหลังจากเดือนมกราคมหรือหลังเทศกาลตรุษจีนนี้ก็ต้องมีการพิจารณาอีกครั้ง เนื่องจากประมาณเดือนมีนาคมข้าวหอมเวียดนามจะออกสู่ตลาด โดยเวียดนามส่งออกข้าวหอมในราคา 650 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ซึ่งส่งออกในราคาที่ถูกกว่าไทยค่อนข้างมากดังนั้น ผู้บริโภคอาจหันไปซื้อข้าวเวียดนามมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ