นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าจากการหารือร่วมกับกลุ่มเครือข่ายชาวสวนยางถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำในขณะนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้วางแนวทางที่คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ทันที คือ การดึงปริมาณยางเข้ามาเก็บไว้ในสต็อคชั่วคราว เพื่อใช้กลไกตลาดช่วยยกระดับราคายางให้สูงขึ้น ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในวันที่ 17ม.ค.นี้ โดยให้คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติจัดสรรวงเงินให้แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และรัฐบาลให้ความช่วยเหลือในเรื่องปลอดดอกเบี้ย และให้ 2 หน่วยงานหลัก คือ องค์การสวนยาง และองค์กรเกษตรกร รับซื้อยางจากเกษตรกรจำนวน 2 แสนตันเก็บเข้าสต็อค เพื่อให้ปริมาณความต้องการราคายางในตลาดมีเพิ่มขึ้น และขายออกเมื่อได้ราคาที่เหมาะสม ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะส่งผลต่อราคาชี้นำตลาดให้อยู่ในเกณฑ์ 105 — 120 บาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการทันทีหลังจากนำมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติถึงวงเงินในการเข้ามารับซื้อยาง เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 24 ม.ค.นี้
"ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลทำให้ราคายางตกต่ำในขณะนี้มีหลายปัจจัยด้วยกัน โดยเฉพาะอุปสงค์และอุปทานในตลาดไม่สัมพันธ์กัน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาพบว่าประเทศผู้ใช้ยางรายใหญ่ ประสบปัญหาภัยธรรมชาติ และภัยทางด้านเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นประเทศญี่ปุ่นประสบปัญหาสึนามิที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ที่ลดกำลังการผลิตถึง 60% วิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา และสภาวะเงินเฟ้อของประเทศจีน ประกอบกับประเทศไทยก็ประสบปัญหาอุทกภัยจึงเป็นเหตุปัจจัยสำคัญทำให้ปริมาณความต้องการใช้ยางลดต่ำลง แต่คาดว่าระดับราคาน่าจะยกระดับเพิ่มสูงขึ้นไม่ว่าจะเป็นการลดปริมาณยางที่จะออกสู่ตลาดที่กระทรวงเกษตรฯ เตรียมเสนอรัฐบาล และปริมาณผลผลิตน้ำยางที่จะกรีดได้จะลดลงในช่วงปลายฤดูด้วย ก็คาดว่าจะส่งผลทำให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้นในราคาที่เกษตรกรพอใจ" นายธีระ กล่าว
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ จะรับข้อเสนอของเครือข่ายชาวสวนยางภาคใต้ที่ได้หารือร่วมกัน ไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาราคายางของเกษตรกรเป็นไปอย่างรวดเร็วและเหมาะสมต่อไป รวมถึงการพิจารณามาตรการอื่นๆ ที่จะรักษาเสถียรภาพยางที่ยั่งยืน เช่น การโค่นต้นยางเก่า การลดอัตราเงินเซสส์ เป็นต้น