อดีตบอร์ดกนง.ชี้ออกพ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯไม่ได้ลดภาระแท้จริง ซ้ำผลักภาระให้ปชช.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 11, 2012 14:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวให้ความเห็นกรณีที่คณะรัฐมนตรีผ่านร่างพ.ร.ก.เพื่อการฟื้นฟูระบบสถาบันการเงินโดยให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รับผิดชอบชำระเงินต้นและดอกเบี้ยว่า แนวทางดังกล่าวไม่ได้เป็นการตอบโจทย์การลดภาระกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินอย่างแท้จริง เพราะแนวทางการดำเนินการโดยให้ ธปท.เรียกเก็บเงินจากธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น ซึ่งเม็ดเงินคงไม่มากเพียงพอชำระเงินต้นแต่เป็นเพียงสามารถชำระดอกเบี้ยบางส่วนเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่ทำให้ภาระหนี้สาธารณะลดลงและท้ายที่สุดธนาคารพาณิชย์คงต้องผลักภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นให้กับลูกค้านอกจากนี้เห็นว่าในกฎหมายมาตรา 7 (3) ที่ให้มีการโอนทรัพย์สินให้ธนาคารแห่งประเทศไทยดูแลเพื่อชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูถือเป็นวิธีการที่อันตรายเนื่องจากเป็นการให้อำนาจครม.มากเกินไป

ทั้งนี้นายพรายพล เสนอแนะให้มีการจัดสรรเงินจากทุนสำรองระหว่างประเทศส่วนหนึ่งที่สามารถนำมาชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ได้ ซึ่งปัจจุบันทุนสำรอง 1.7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หากจัดสรร 20% มาดำเนินการชำระหนี้สามารถทำได้แต่ต้องออกเป็นพระราชบัญญัติเนื่องจากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเป็นของทุกคน โดยต้องผ่านการพิจารณาและให้ประชาชนรับรู้ ซึ่งในอดีตมีการใช้เงินทุนสำรองแต่ต้องมีการกำหนดวงเงินที่จะใช้ชัดเจนและกำหนดเวลาไว้ด้วย ซึ่งหากใช้แนวทางดังกล่าวการชำระหนี้เงินกู้คงไม่ถึง 25 ปี

"เงินสำรองระหว่างประเทศเราแยกออกส่วนหนึ่งโดยไม่แตะเงินบริจาคของหลวงตาก็สามารถทำได้ซึ่งวิธีการกำหนดเงินที่จำกัดที่จะนำมาใช้ชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูและควรออกพรบ.และให้ทุกคนมีส่วนร่วมมีการถกเถียงกันในสภาเพื่อให้ประชาชนรับรู้และเป็นไปในกรอบหลักการ"นายพรายพล กล่าว

ปัจจุบันเงินทุนสำรองระหว่างประเทศใช้ในการหนุนหลังการออกพันธบัตร 10% สำรองไว้ในหนี้ต่างประเทศระยะสั้น รองรับการนำเข้าเป็นเวลา 6 เดือน รองรับเงินทุนไหลออกกรณีฉุกเฉิน ส่วนที่เหลือสามารถนำมาใช้ในการชำระหนี้ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ