โฆษกรัฐแจงออกพ.ร.ก. 4 ฉบับเพื่อเตรียมความพร้อมการคลัง รับมือปัญหาอุทกภัย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 11, 2012 14:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การออก พ.ร.ก. 4 ฉบับตามแนวทางที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ(กยอ.) และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ(กยน.) เสนอต่อ ครม.นั้น เหตุที่รัฐบาลต้องออก พ.ร.ก.ทั้ง 4 ฉบับในคราวเดียวกัน เกิดจากการมองภาพรวมการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของชาติอันเกิดจากมหาอุทกภัยครั้งที่ผ่านมา

โดยรัฐบาลเล็งเห็นว่ามีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงด้วยกัน 3 ด้านคือ ด้านการฟื้นฟูเยียวยาความเสียหายที่ได้รับจากน้ำท่วม ด้านการสร้างความเชื่อมั่นและพัฒนาศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และด้านการป้องกันปัญหามิให้เกิดความเสียหายจากภัยน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในปีนี้ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่เชื่อมโยงเป็นมาตรการเดียวกันและควรปฏิบัติไปพร้อมๆกันทั้ง 3 ด้าน

"การแก้ไขปัญหาดังกล่าว เป็นการดำเนินการเพื่อมิให้มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม และต้องเริ่มดำเนินการทันทีในขณะนี้ จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.ก.รวม 4 ฉบับ" โฆษกรัฐบาลกล่าว

พ.ร.ก.ฉบับแรก คือ พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. ..... เป็นการดำเนินการเพื่อลดภาระทางการคลังของรัฐบาล โดยให้กองทุนฟื้นฟูฯเป็นผู้จัดการหนี้ 1.14 ล้านล้านบาท ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ทั้งนี้กฎหมายได้เพิ่มช่องทางการหาเงินโดยให้ ธปท.เรียกเงินนำส่งจากสถาบันการเงินไม่เกิน 1% เพื่อให้กองทุนฟื้นฟูฯ และธปท.มีรายได้เพิ่มขึ้นสามารถจัดการหนี้ก้อนนี้ได้อย่างมีกำหนดเป้าหมายชัดเจน

พ.ร.ก.ฉบับที่ 2 คือ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ วงเงินกู้มูลค่ารวมกันไม่เกิน 3.5 แสนล้านบาท เมื่อปรับปรุงการบริหารหนี้แล้ว กระทรวงการคลังก็มีภาระน้อยลงจึงสามารถกู้เงินเพื่อมาลงทุนวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศได้มากขึ้น เพราะผู้ให้กู้จะเชื่อมั่นสถานะของกระทรวงการคลังยิ่งขึ้น ซึ่งเกิดจากการลดภาระงบประมาณของชาติได้มากมาย

นอกจากนั้น ภาคเอกชนที่จะมาร่วมลงทุนกับรัฐบาล (PPP) ก็จะกล้าลงทุนมากขึ้น เนื่องจากมั่นใจในฐานะของรัฐบาล จากตัวเลขประมาณการ รัฐบาลคาดว่าเงินลงทุนร่วมจากภาคเอกชนจะได้อีกไม่ต่ำกว่า 4.13 แสนล้านบาท

พ.ร.ก.ฉบับที่ 3 คือ พ.ร.ก.กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ วงเงินไม่เกิน 50,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำให้นักธุรกิจประกันภัยมั่นใจในการรับประกันวินาศภัย ในอัตราเบี้ยประกันที่ไม่สูงนัก ซึ่งจะส่งผลให้นักลงทุนสามารถดำเนินธุรกิจในประเทศไทย โดยไม่ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น

พ.ร.ก.ฉบับที่ 4 พ.ร.ก.เรื่องการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย วงเงิน 300,000 ล้านบาท ในสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) ซึ่งหลังจากเกิดภัยพิบัติ รัฐบาลก็ต้องจัดมาตรการให้ความช่วยเหลือเพื่อให้ประชาชนและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมีเงินทุนก้อนใหม่ฟื้นฟูธุรกิจให้กลับมาดำเนินการได้ดังเดิม

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า พ.ร.ก. 4 ฉบับเป็นมาตรการที่สอดคล้องและสนับสนุนซึ่งกันและกัน คือ รัฐบาลได้เตรียมความพร้อมด้านการคลังเพื่อลงทุนวางแผนป้องกันน้ำท่วมทั้งระยะสั้นและระยะยาวรวมไปถึงการยกระดับขีดความสามรถในการแข่งขันของประเทศในระดับโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนและนักลงทุนว่ารัฐบาลจะสามารถฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศไทยให้กลับมามีเศรษฐกิจที่มั่นคงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ