(เพิ่มเติม) ม.หอการค้าฯ เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค ธ.ค.54 ที่ 63.1 จาก 61.0 ในพ.ย.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 12, 2012 13:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนธ.ค.2554 โดยดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมอยู่ที่ 63.1 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ 64.2 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 92.1

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นทุกรายการปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลาย พร้อมกับมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูหลังน้ำท่วมเชื่อว่าจะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยในปี 2555 ขยายตัวได้ 4-5%

สำหรับปัจจัยบวกในเดือน ธ.ค.ได้แก่ มาตรการของภาครัฐในการช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการที่ประสบอุทกภัย, การส่งออกในเดือนพ.ย.ยังเกินดุลกว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับลดลง, สถานการณ์น้ำท่วมหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลาย

ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยปี 2554 ลงจากผลกระทบน้ำท่วม, ผู้บริโภคยังวิตกกังวลค่าครองชีพและราคาสินค้า, ความกังวลเรื่องความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจากผลกระทบวิกฤติหนี้ยุโรป รวมถึง ค่าเงินบาทที่ปรับตัวอ่อนค่าลง

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมยังเคลื่อนไหวต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังไม่มั่นใจสถานการณ์ต่างๆอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสถานการณ์น้ำท่วมที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์เศรษฐกิจ แม้ว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะเริ่มคลี่คลายลงแล้ว

นอกจากนี้ ยังมองว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 ได้ปรับตัวเข้าสู่แนวโน้มขาลง และมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง หากภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากสถานการณ์น้ำท่วม และรัฐบาลไม่สามารถเร่งฟื้นฟูให้เศรษฐกิจไทยกลับฟื้นตัวขึ้นมาได้ภายใน 3-6 เดือน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ คาดว่า การบริโภคของประชาชนในปัจจุบันจะชะลอตัวลงจนไปถึงกลางไตรมาสแรกปี 55 เนื่องจากยังมีความวิตกกังวลผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากปัญหาน้ำท่วม ตลอดจนค่าครองชีพที่ยังทรงตัวในระดับสูง ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น การเร่งรัดเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายลงให้เห็นอย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรมจะทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมา

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ เชื่อว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ม.ค.55 มีโอกาสปรับตัวลดลงได้อีก จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นกลับมาสู่ระดับปกติ แต่อย่างไรก็ดี จากนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับการฟื้นฟูเยียวยา ประชาชน และผู้ประกอบการหลังสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลาย ตลอดจนโครงการลงทุนของภาครัฐได้เริ่มอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ มีโอกาสทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวขึ้นแต่อาจจะยังขึ้นได้ไม่มาก เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังไม่อยู่ในระดับที่กลับมาเป็นปกติ

ปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ม.ค.55 คือ ทิศทางราคาน้ำมัน และราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ที่จะมีผลต่อค่าครองชีพ และจะเป็นปัจจัยลบที่สำคัญในเดือน ม.ค.นี้

นายธนวรรธน์ ยังกล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจไทยโดยรวมในปี 55 ยังมีโอกาสโตในระดับ 5-7% แม้ว่าในไตรมาสแรกยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วม ประกอบกับ ต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งหากในช่วงนี้รัฐบาลมีแผนบริหารจัดการน้ำและสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการลงทุนในภาคธุรกิจและภาคธุรกิจมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ก็จะเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ซึ่งมีโอกาสที่จะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ในปี 55 เติบโต 5-7%

และอีกส่วนหนึ่งมาจากเม็ดเงินที่จะหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจปี 55 ประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท มาจากเม็ดเงินในงบประมาณรายจ่ายปี 55 และการตั้งวงเงินขาดดุลงบประมาณ 1 แสนล้านบาท ตลอดจนการกู้เงินจากการออกพ.ร.ก.4 ฉบับ จากปัจจัยเหล่านี้น่าจะมีผลช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และจะทำให้จีดีพีปี 55 โตได้ 5-7%

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญในปีนี้ คือ สถานการณ์เศรษฐกิจในสหภาพยุโรป ขณะที่สถานการณ์การเมืองในประเทศยังมองไม่เห็นว่าจะเป็นตัวดึงความเชื่อมั่นให้ลดลง ขณะที่ปัญหาการโอนหนี้กองทุนฟื้นฟู ก็เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเช่นกัน

"ตอนนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในอียูเป็นสำคัญ เรามองว่าปัญหาในอียูเป็นปัจจัยเสี่ยงมากที่สุด เพราะปัจจัยจากน้ำท่วมในประเทศเชื่อว่ารัฐบาลจะได้อุดช่องไว้หมดแล้ว การฟื้นความเชื่อมั่นก็สามารถทำได้โดยไม่น่าจะมีผลอะไรทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวไม่เร็ว เรื่องการโอนหนี้กองทุนฟื้นฟู ก็ไม่มีสัญญาณว่าจะกระทบความเชื่อมั่นและการเมืองในประเทศก็ยังมองไม่เห็นว่าจะดึงความเชื่อมั่นให้ลดลง"นายธนวรรธน์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ