นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง กล่าวภายหลังการตรวจเยี่ยมกรมบัญชีกลางว่า ได้มอบนโยบายให้กรมบัญชีกลางศึกษาแนวทางการบริหารเงินคงคลังเพื่อสร้างรายได้ให้มากขึ้น จากปัจจุบันจะฝากเงินคงคลังไว้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)โดยได้เสนอแรนะแนวทางการนำไปฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์เพื่อสร้างรายได้ หรือการคิดนอกกรอบ โดยให้ ธปท.นำเงินคงคลังแลกเป็นเงินตราต่างประเทศเพื่อนำไปลงทุนหารายได้จากต่างประเทศ
"เป็นเรื่องที่ดีที่รัฐบาลชุดที่แล้วมีเงินคงคลังไว้ระดับสูง และเมื่อมีน้ำท่วม การมีเงินคงคลังสูงทำให้เกิดความคล่องตัว แต่มองว่าการมีเงินค้างในมือจะมีภาระค่าใช้จ่าย จึงให้ไปดูวิธีการสร้างรายได้จากเงินคงคลังให้มากขึ้น"นายธีระชัย กล่าว
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ปัจจุบันเงินคงคลังอยู่ในระดับ 250,000 ล้านบาท เพียงพอใช้ในการบริหารการเบิกจ่ายงบประมาณในแต่ละเดือน ซึ่งจะมีรายได้เข้ามาสมทบอีกประมาณเดือนละ 1 แสนล้านบาท แต่ช่วงเดือน ก.ย.54 ระดับเงินคงคลังอยู่สูงมากถึง 590,000 ล้านบาท ดังนั้น การนำเงินคงคลังเพื่อหาประโยชน์เพิ่มขึ้น อาจจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายการเงินการคลัง ซึ่ง รมว.คลัง ให้แนวคิดที่จะให้นำเงินคงคลังไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม
นายธีระชัย ยังให้นโยบายกรมบัญชีกลาง เกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแลการใช้จ่ายเงินงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ ป้องกันการรั่วไหล และเกิดการทุจริต โดยเฉพาะปีงบประมาณ 55 ที่รัฐบาลต้องมีการใช้จ่ายในหลายเรื่องเพื่อฟื้นฟูเยียวยาผลกระทบจากน้ำท่วม ดังนั้นการกำกับดูแลการใช้จ่ายงบประมาณของกรมบัญชีกลางให้มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันจะต้องไม่เร่งรัดจนการใช้จ่ายเงินเพื่อการฟื้นฟูเยียวยาเศรษฐกิจเกิดความล่าช้า
"กรมบัญชีกลางมีงานสองด้าน คืองานกำกับดูแลการใช้จ่ายเงิน กำหนดกฎระเบียบ การติดตามให้ทันสมัย เป็นไปตามกฎ แต่อีกด้านก็ทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการ เหมือนแคชเชียร์ของประเทศในการเบิกจ่ายเงิน ดังนั้นการทำหน้าที่ 2 ด้านก็ต้องถ่วงดุลให้พอดี โดยเฉพาะปีนี้ที่ต้องเร่งรัดการใช้จ่ายการนำเงินไปเยียวยาฟื้นฟูประเทศ" นายธีระชัย กล่าว
สำหรับมาตรการป้องกันการทุจริตคอรัปชั่น ได้มีการตั้งคณะกรรมการ Anti Corruption ขณะเดียวกัน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.)ได้เสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)กำหนดระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมีการเปิดเผยราคากลางให้มีรายละเอียดมากขึ้น และ ครม.ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณาตามแนวทาง ปปช.โดยไม่เป็นอุปสรรคการทำงานของแต่ละกระทรวงด้วย
ดังนั้น รมว.คลัง จึงได้มอบหมายให้อธิบดีกรมบัญชีกลางหารือกับภาคเอกชน ในวันที่ 1 ก.พ.55 เพื่อรับฟังความเห็นภาคเอกชนที่มีการเสนอราคาสินค้าและบริการ เกี่ยวกับแนวทางการประกอบธุรกิจ เพื่อใช้ในการประกอบการพิจารณาการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ แม้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในปัจจบันจะมีประสิทธิผล รัดกุมในระดับหนึ่ง แต่หากมีการดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อให้ระบบการจัดซื้อจัดจ้างดีขึ้นกว่าปัจจุบันก็เป็นเรื่องดี
นอกจากนี้ได้วางแผนการทำงานโดยมองไปข้างหน้า เกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินงบประมาณในระดับท้องถิ่น ซึ่งในอนาคตการใช้จ่ายเงินและการจัดสรรงบประมาณจะกระจายให้ท้องถิ่นมากขึ้น แต่มีคำถามว่าการกำกับดูแลและการบริหารงาน การจัดซื้อจัดจ้าง การทำงบบัญชี การตรวจสอบ มีกระบวนการที่รัดกุมหรือไม่ และพบว่าในท้องถิ่นหลายพื้นที่ยังมีการจัดทำระบบบัญชีไม่เป็นปัจจุบัน ทำให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ไม่สามารถตรวจสอบบัญชีได้เต็มที่ จึงเป็นปัญหาที่ต้องปรับปรุงวิธีการและขั้นตอนการทำงาน เพื่อให้มั่นใจว่าท้องถิ่นมีกระบวนการใช้เงินงบประมาณที่มีประสิทธิภาพ
รมว.คลัง มอบหมายให้กรมบัญชีกลางกำหนดเงื่อนไขการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของท้องถิ่น ที่อย่างน้อยต้องจัดทำระบบบัญชีที่เป็นปัจจุบันมากขึ้น กำหนดบัญชีย้อนหลัง และอาจใช้คลังจังหวัดมีบทบาทในท้องถิ่นมากขึ้นในการช่วยกำกับการใช้จ่ายเงินของภาครัฐ และหากจำเป็นต้องจ้างหน่วยงานภายนอกเพื่อให้คำปรึกษาแนะนำก็สามารถเสนอเรื่องเพื่อพิจารณาได้ รวมถึงให้เปรียบเทียบการกำกับดูแลการใช้เงินท้องถิ่นกับต่างประเทศ
ส่วนการกำกับดูแลค่ารักษาพยาบาล ที่ปัจจุบันมีการใช้งบประมาณส่วนนี้มากถึง 60,000 ล้านบาท/ปี ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จึงได้ให้กรมบัญชีกลางวางแผนการกำกับดูแล โดยไม่กระทบสิทธิของข้าราชการและครอบครัว ส่วนหนึ่งคือให้จัดทำบัญชียาหลักที่รัดกุม และยาบางรายการอาจทำเป็นระบบ Co Pay(ร่วมจ่าย) และให้วางแนวทางการส่งเสริมสุขภาพข้าราชการให้แข็งแรงโดยทำในลักษณะสุขนิสัย