รมว.พลังงาน ยอมรับมีแรงกดดันต่อนโยบายเรื่องการปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบในวันที่ 16 ม.ค.นี้อย่างมาก แต่จำเป็นต้องดำเนินการเพื่อความถูกต้อง ไม่บิดเบือนกลไกตลาดจนสร้างปัญหาสะสมเหมือนกรณีก๊าซแอลพีจี
"เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ หากไม่กล้าทำก็คงจะแก้ปัญหาประเทศได้ยาก ผมไม่อยากมานั่งตำแหน่งรัฐมนตรีโดยไม่ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ราคาก็ควรจะสะท้อนความจริง เพื่อให้ทุกอย่างเดินไปได้" นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พลังงาน กล่าว
รมว.พลังงาน กล่าวว่า ไม่ต้องการให้สถานการณ์ก๊าซ NGV เหมือนกับก๊าซ LPG รถหันมาใช้ก๊าซ LPG เพิ่มขึ้นเป็น 8-9 แสนคัน และต้องนำเข้า LPG เป็นล้านตันต่อปี เนื่องจากเพราะราคาจำหน่าย LPG ของไทยถูกกว่าตลาดโลกและถูกกว่าน้ำมันอย่างมาก โดยล่าสุดปริมาณการใช้ LPG ในรถยนต์ปี 54 เพิ่มเป็น 8,202 ล้านลิตร/ปี เพิ่มขึ้นจากปี 50 ที่มีปริมาณเพียง 5,812 ล้านลิตร/ปี และ สนพ.คาดว่าปี 55 นี้ปริมาณการใช้จะเพิ่มถึง 11.2% หรือเพิ่มเป็น 9,120 ล้านลิตร/ปี
ทั้งนี้ หากไม่มีการปรับโครงสร้างราคา NGV หรือไม่ขยับขึ้นเลย ก็จะเปิดปัญหาจะหนักเหมือน LPG ซึ่งนอกจาก บมจ.ปตท.(PTT) จะต้องเข้ามาอุดหนุนราคาแล้ว ยังต้องนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เก็บจากผู้ใช้น้ำมันมาอุดหนุนก็เป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรม อย่างไรก็ตาม โครงสร้างต้นทุนก็จะมีการหารือในคณะกรรมการร่วมกับทางผู้ประกอบการเพื่อให้เกิดการยอมรับกันมากขึ้น
"การปรับโครงสร้างพลังงานอาจทำให้ถูกต่อต้าน แต่ก็อยากวางรากฐานแก่ประเทศให้ถูกต้อง เช่น กรณีเจรจาก๊าซพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ก็เช่นกันทางพรรคไม่อยากให้พูด แต่ผมก็ดื้อ อะไรเป็นประโยชน์ผมก็อยากทำ ทำแล้วถูกเด้งก็ไม่เป็นไร ผมมีท่าน สมหมาย ฮุนตระกูล อดีต รมว.คลัง เป็นไอดอลการทำงาน ท่านลดค่าเงินบาทถูกด่าทั่วบ้านทั่วเมือง แต่ท่านก็ทำเพราะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ" นายพิชัย กล่าว
ด้านนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTT กล่าวว่า กรณีที่ยังมีข้อสงสัยเรื่องต้นทุน NGV นั้นทาง ปตท.พร้อมชี้แจง โดยต้นทุนก๊าซฯ ทั้งระบบมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)เป็นผู้ดูแล ตรวจสอบตั้งแต่ราคาก๊าซปากหลุม ค่าผ่านท่อ มาร์จิ้นต่างๆ มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นทุกขั้นตอน ส่วนราคาที่ทางสถาบันปิโตรเลียมได้ศึกษาไว้เมื่อปี 53 ที่ราคาปากหลุมรวมค่าผ่านท่อประมาณ 8.39 บาท/กก. ราคาค่าขนส่งสถานีแม่และลูกกว่า 5 บาท/กก. รวมต้นทุนและภาษีมูลค่าเพิ่ม ราคาที่เหมาะสมในปี 53 ควรอยู่ที่ 15.50 บาท/กก. เป็นสิ่งที่กระทรวงพลังงานต้องการเห็นคนกลางสถาบันด้านวิชาการมาศึกษา
"หากถาม ปตท.ก็ต้องตอบว่าต้นทุนสูงกว่านี้ โดยที่ผ่านมา ปตท.รับภาระขยายปั๊มเอ็นจีวีตามนโยบายรัฐบาลไปแล้ว 4 หมื่นล้านบาท หากไม่ทำอะไรเลย จะรับภาระอีกไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท ยิ่งน้ำมันแพงคนจะยิ่งหันมาใช้ทั้งแอลพีจี-เอ็นจีวีมากขึ้น และขอยืนยันว่า ปตท.ไม่ได้ผูกขาด การจำหน่าย หากใครเข้ามาทำธุรกิจก๊าซทั้งระบบก็ทำได้ แต่ต้นทุนสูงมาก จึงไม่มีใครเข้ามาแข่งขัน โดย ปตท.ดำเนินการขยายงานตามนโยบายของรัฐมาโดยตลอด" นายไพรินทร์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม NGV เป็นพลังงานทางเลือก ดังนั้นต้องยอมรับว่าการใช้งานคงจะมีประสิทธิภาพที่ดีเท่ากับน้ำมันไม่ได้ โดยเฉพาะประเภทพลังงานที่ต่างกันคุณภาพก็ต่างกัน โดยวันนี้ NGV อยู่ที่ 8.50 บาท/กก.แต่ราคาน้ำมันสูงกว่า 30 บาท/ลิตร ถูกกว่าเบนซินร้อยละ 80 และถูกกว่าดีเซลร้อยละ 70 ซึ่งผู้บริโภคก็ต้องเลือกว่าจะเอาของแพงที่ดี หรือใช้ของถูกแต่ดีน้อยกว่า
อนึ่ง การปรับโครงสร้างพลังงานในวันที่ 16 ม.ค.นี้ ราคา LPG ภาคขนส่งขึ้นไป 41 สต./ลิตร NGV ปรับขึ้น 50 สต./กก. เงินกองทุนน้ำมันดีเซลจัดเก็บ 60 สต. เบนซิน-แก๊สโซฮอล์ 1 บาท/ลิตร ขณะที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค สหกรณ์แท็กซี่ และผู้บริโภค ร่วมกันยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้ขึ้นราคา NGV และ LPG ภาคขนส่ง