นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือกับนายโทนี แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษว่า ได้ขอความรู้เรื่องค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำกับอดีตนายกรับมนตรีอังกฤษ เนื่องจากเป็นผู้ริเริ่มค่าจ้างขั้นต่ำของอังกฤษ โดยมีความเห็นคล้ายกันที่จะดูแลผู้มีรายได้น้อยและต่อไปจะหากลไกที่ทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพฝีมือแรงงาน ซึ่งรัฐบาลยืนยันนโยบายที่จะช่วยให้คนมีรายได้เพิ่ม
พร้อมกันนี้ ได้มีการหารือเกี่ยวกับแผนป้องกันน้ำท่วม ซึ่งตนได้ยืนยันว่าประเทศไทยมีแผนป้องกันและสามารถรับมือได้ โดยไทยมีแผนแม่บทเรื่องการบริหารจัดการน้ำตั้งแต่ปี 2542-2543 แต่ไม่ได้นำมาใช้ เนื่องจากเป็นการลงทุนจำนวนมาก แต่เมื่อมีเหตุน้ำท่วมใหญ่เกิดแล้วก็ต้องเร่งป้องกัน ซึ่งอดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษได้ระบุว่าจะเอาใจช่วยให้ไทยดำเนินการให้สำเร็จ
นอกจากนี้ นายกิตติรัตน์ กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้ว่า เศรษฐกิจปี 555 จะยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะรายได้จากภาคการท่องเที่ยวจะมีส่วนสำคัญทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว ขณะที่การท่องเที่ยวต้องให้ความสำคัญในระยะสั้น เพราะมักมีเหตุการณ์ที่ทำให้การท่องเที่ยวสะดุด เช่น ช่วงนี้กังวลปัญหาเรื่องความไม่ปลอดภัยว่าประเทศไทยจะเป็นเป้าหมายการก่อการร้ายหรือไม่ ซึ่งไทยมีมาตรการรักษาความปลอดภัยในระดับสูง การตรวจคนเข้าออกประเทศต้องเข้มงวด และทุกหน่วยงานต้องประสานความร่วมมือในการทำงานมากขึ้น
ด้านนายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรได้ให้ความสนใจและติดตามความก้าวหน้าการปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศไทยในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย หรือโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค โดยมีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวใน 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือการให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการให้บริการเสริมกับภาครัฐบางเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการใช้เทคโนโลยีบางอย่างซึ่งมีความก้าวหน้าและสลับซับซ้อน ก็จะทำให้ระบบบริการมีความสมบูรณ์แบบ เนื่องจากบริการสุขภาพของไทยส่วนใหญ่ร้อยละ 80 เป็นของภาครัฐ ที่เหลืออีกร้อยละ 20 เป็นของภาคเอกชน
และประเด็นที่ 2 คือเรื่องของการจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรตามผลการปฏิบัติงาน(pay for performance:p4p) ซึ่งทางอังกฤษได้ทำมาระยะหนึ่งแล้ว และได้ผลทำให้คิวรอรับบริการสั้นขึ้น ซึ่งประเทศไทยพยายามดำเนินการเช่นกัน โดยใช้เกณฑ์ 2 อย่างคือจ่ายตามความทุรกันดาร แต่ภาระงานอาจเท่ากัน และ 2.จ่ายตามความยากง่ายและภาระงาน
อย่างไรก็ตาม ประเด็นการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงานดังกล่าวเป็นเรื่องที่ทำยาก เพราะต้องหาค่าน้ำหนักความยุ่งยากของงานแต่ละประเภท ขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างทดลองศึกษานำร่องที่โรงพยาบาลหลายแห่ง เช่น ที่โรงพยาบาลพาน จังหวัดเชียงราย, โรงพยาบาลมะการักษ์ จังหวัดกาญจนบุรี, โรงพยาบาลสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งทางอังกฤษยินดีแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้แก่ประเทศไทยหากต้องการ