(เพิ่มเติม) ส.ผู้ส่งออกข้าวไทยประเมินปี55 ส่งออกเหลือ 7 ล้านตันเหตุแข่งขัน-ราคาสูง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 16, 2012 18:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.กอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย คาดว่า ในปี 55 ไทยจะส่งออกข้าวลดลงเหลือเพียง 7 ล้านตัน จากปี 2554 ที่มีปริมาณส่งออกสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 10.5 ล้านตัน จากการแข่งขันในตลาดที่รุนแรงมากขึ้น เนื่องจากอินเดียเริ่มกลับมาส่งออกอีกครั้ง โดยกลับมาเป็นคู่แข่งของไทยทั้งตลาดข้าวนึ่งและข้าวขาว

ขณะที่ เวียดนามก็เริ่มเข้ามาทำตลาดข้าวหอมมะลิ และยังประกาศผลักดันการส่งออกข้าวนึ่งให้ได้ถึง 4 แสนตัน และข้าวหอมปีละ 8 แสนตัน และกัมพูชาประกาศนโยบายส่งออกข้าวให้ได้ 1 ล้านตันภายในปี 2558 ส่วนพม่า เริ่มผลิตข้าวนึ่งและมีการส่งออกไปยังรัสเซียแล้ว,บราซิล อุรุกวัย ตั้งเป้าขยายตลาดข้าวในแอฟริกา,และปากีสถานตั้งเป้าส่งออกเพิ่มขึ้นหลังผลผลิตในประเทศเพิ่มขึ้น เป็นต้น

"ปีนี้จะเป็นปีที่ไทยจะต้องเผชิญอุปสรรคหลายประการที่จะกระทบต่อการส่งออกข้าว หลังจากกระทรวงเกษตรฯของสหรัฐอเมริกา คาดว่าปริมาณการค้าข้าวโลกจะลดลงจาก 34.78 ล้านตันข้าวสารในปี 54 เหลือเพียง 31.88 ล้านตันข้าวสารในปีนี้"นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยกล่าว

น.ส.กอบสุข กล่าวต่อว่า การที่ราคาข้าวไทยยังสูงกว่าคู่แข่งถือเป็นราคาที่สูงที่สุดในโลกทำให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน อีกทั้งจากการที่รัฐบาลได้ตั้งราคารับจำนำข้าวเปลือกหอมมะลิสูงถึงตันละ 20,000 บาท และข้าวเปลือกเจ้า 100 % ที่ 15,000 บาท ส่งผลให้ช่องว่างระหว่างราคาข้าวไทยและประเทศคู่แข่งมีมากยิ่งขึ้น เช่น ข้าวขาว 5% ของอินเดียเสนอขายที่ 435 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ขณะที่ข้าวขาว 5% ของไทยเสนอขายที่ 533 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ส่วนข้าวนึ่งอินเดียเสนอขายที่ 450 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน แต่ข้าวนึ่งไทยเสนอขายที่ 533 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน

"ส่วนมูลค่าคาดจะลดลงเช่นกัน เพราะโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 254/55 ไม่ได้ทำให้ราคาข้าวสูงได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว หากเดินหน้านโยบายรับจำนำในราคาสูงเช่นนี้ ต่อไปไทยจะเสียตลาดส่งออกมากขึ้น นอกจากนี้ เรื่องการระบายข้าวอยากให้รัฐบาลดำเนินการอย่างโปร่งใส ซึ่งสมาคมได้ทำหนังสือถึงรัฐบาลแล้ว แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับเลย"น.ส.กอบสุข กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่ง โดยมีส่วนแบ่งในตลาดโลกถึง 30% แต่ไม่ได้หมายความว่า จะสามารถกำหนดราคาขายได้ ภายใต้ตลาดการค้าเสรี นอกจากนี้ ยังต้องติดตามปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ อาทิ ภัยธรรมชาติ อัตราแลกเปลี่ยน และนโยบายของรัฐบาลไทย ที่จะส่งผลกระทบต่อราคาข้าว และผลผลิตของข้าวด้วย

ด้านนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลทบทวนการดูแลราคาข้าวในประเทศ ซึ่งอาจเปลี่ยนมาใช้โครงการประกันรายได้แทน โดยกำหนดรายได้ที่ต้องการให้ชาวนาได้รับและชดเชยส่วนต่างให้ชาวนาเทียบกับราคาตลาด เพราะเป็นวิธีที่ไม่ทำลายกลไกตลาด และเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ กล่าวว่า จะไม่ทบทวนนโยบายโครงการรับจำนำข้าว เพราะมั่นใจว่าสถานการณ์ตลาดข้าวโลกขึ้นอยู่กับปริมาณผลผลิตและความต้องการบริโภคที่ไม่ห่างกันมาก จึงทำให้ความต้องการข้าวของไทยจะยังมีอยู่ นอกจากนี้ น้ำท่วมช่วงที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณผลผลิตหายไปจากตลาดจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นการย้ำว่าไทยมีอำนาจต่อรองอยู่ และมั่นใจคุณภาพข้าวของไทยที่สอดรับกับราคา ไม่จำเป็นต้องคำนึงว่าคู่แข่งจะขายข้าวออกไปก่อนปริมาณเท่าใด เพราะในที่สุดแล้วตลาดต้องหันมาซื้อข้าวไทยเพื่อป้อนความต้องการที่ยังเหลืออยู่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ